posttoday

นิคมอุตสาหกรรมติล่าวา

04 กรกฎาคม 2563

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

ท่านผู้ที่ติดตามผลงานของผมอาจจะสงสัยว่า เขียนเปรียบเทียบนิคมอุตสาหกรรมอยู่ติดต่อมา 2 ตอนแล้วทำไมหยุดเอาดื้อๆละ

ทำไมไม่มีตอนที่ 3,4,5,6 ต่อละ มีครับ แต่วันนี้พิเศษใส่ไข่นิดหน่อย เพราะที่นิคมอุตสาหกรรมที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้คือ “นิคมอุตสาหกรรมติล่าวา”

ซึ่งแถบนั้นไม่ค่อยมีนิคมฯที่ใกล้เคียงมาเปรียบเทียบเท่าไหร่ จะมีก็เพียงนิคมอุตสาหกรรมติล่าวาที่เป็น Special Economic Zone (SEZ) หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เป็นการร่วมมือระหว่างทุนญี่ปุ่นกับทุน Local เมียนมากับนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นของคนเมียนมาเท่านั้น จริงๆแล้วยังมีนิคมฯที่ก่อนถึง Zone ชั้นในจริงๆ จะมีนิคมอุตสาหกรรมที่คนสัญชาติจีนไปลงทุนอีกหนึ่งแห่งเท่านั้น

ซึ่งเราพอจะอนุโลมเรียกรวมๆกันไปว่า “นิคมอุตสาหกรรมติล่าวา”ก็แล้วกันนะครับเรามาดูก่อนว่าที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมนี้อยู่ตรงไหนของนครย่างกุ้งนะครับนิคมฯนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของนครย่างกุ้ง

โดยอยู่ในเขตตะหงิ่นครึ่งทางของทางไปเจ้าตานหรือที่คนไทยเรียกว่า “สิเรียม” ตามละครในอดีตที่คุณแอนสิเรียม ภักดีดำรงค์ฤทธิ์ เล่นเป็นนางเอกนั่นแหละครับ 

ส่วนใครเป็นคนเรียกก่อนหรือตั้งชื่อให้ ผมก็มิอาจทราบได้ครับ ในอดีตการเดินทางไปที่เขตเจ้าตาม จะเป็นถนนเล็กๆ ลาดยางตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2 นั่นแหละครับ

และที่เจ้าตานจะมีเจดีย์กลางน้ำที่คนเมียนมานับถือน้ำที่ว่านี้เป็นน้ำที่อยู่ปากแม่น้ำย่างกุ้งที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวย่างกุ้งหรืออีกชื่อคืออ่าวเมาะตะมะเพื่อลงทะเลอันดามันซึ่งกระแสน้ำไหลแรงมากการข้ามไปที่เจดีย์จะต้องนั่งเรือหางยาวข้ามไปเท่านั้น

ส่วนการเดินทางไปที่นี่ในอดีตไปยากมาก แต่ที่นครย่างกุ้งยุคนั้นสถานที่ท่องเที่ยวไม่ค่อยมี

ผมจึงจำเป็นต้องพาเพื่อนๆที่มาเยี่ยมเยือนไปที่นี่ทุกครั้งเลยครับ

กลับมาที่เรื่องนิคมอุตสาหกรรมติล่าวากัน เมื่อเราเดินทางเข้าสู่เขตตะหงิ่นเราจะเจอทางแยกที่อยู่ข้างๆเจดีย์จ้ายเค้าพะยาอันเลื่องชื่อ เราก็ต้องเลี้ยวขวาตรงเข้าไปอีกประมาณสิบกิโลเมตร ถ้าท่านหลงทาง เลยทางแยกเข้าติล่าวา

ก็สามารถเข้าได้อีกทาง โดยตรงไปอีกประมาณ4-5 กิโลเมตร จะเจอสี่แยกเลี้ยวขวาเข้าไปก็จะเจอนิคมอุตสาหกรรมเช่นกันครับ ก่อนเข้าสู่ติล่าวาถ้าเข้าทางเจดีย์จ้ายเค้าพะยา จะเจอมหาวิทยาลัยการเดินเรือซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมียนมา

เพราะเมียนมาเป็นประเทศส่งออกแรงงานด้านการเดินเรือเป็นอันดับต้นๆของโลกก็ว่าได้ จากนั้นจะเห็นโรงงานอุตสาหกรรมเรียงรายเยอะแยะ นั่นคือนิคมอุตสาหกรรมติล่าวาแล้วละครับ

แต่ช่วงต้นๆนี้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่นายทุนจีนเข้ามาลงทุนครับ พอเลยเข้าไปหน่อยก็จึงจะถึงนิคมอุตสาหกรรมติล่าวาที่มีการร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่นกับเมียนมาครับ

สังเกตุง่ายๆ นิคมฯนี้เขาจะสร้างโรงงานที่อยู่ในรั้วสูงๆ พื้นที่ภายในนิคมจะถมดินสูงกว่าภายนอกเยอะมาก นั่นแหละครับ

ถึงจุดหมายปลายทาง SEZ แล้วครับ เรามาดูที่นิคมที่เป็นนิคมที่ดีที่สุดในเมียนมาคือที่นี่ก่อนนะครับ ที่ SEZ นี้ มีเนื้อที่ในมาสเตอร์แปลนอยู่ที่ 2,400 เฮกเตอร์

แต่ที่พัฒนาแล้วมีอยู่ทั้งหมดสามโครงการด้วยกัน โครงการแรกหรือ Zone A ที่ขายหมดแล้ว มีทั้งหมด 405 เฮกเตอร์ Zone B1 มีทั้งหมด 101 เฮกเตอร์ Zone B2 มีทั้งหมด 77 เฮกเตอร์ ราคาขายที่ผ่านๆมา อยู่ที่ เอเคอร์ละ 250,000-300,000 US$

แต่ทราบมาว่าทางโครงการกำลังจะลดราคาลงมาอีกประมาณ 30% เพื่อรับภัย COVID19 ที่นี่โครงสร้างพื้นฐานหรือ Infrastructures เขาได้รับเงินทุนมาจากการกู้ดอกเบี้ยต่ำของกองทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

ดังนั้นจริงมีครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดในเมียนมาณ.วันนี้ครับ อีกทั้งรัฐบาลเมียนมาเองก็ให้การสนับสนุนเขาเป็นอย่างดีมีการสร้างถนนเข้ามายังโครงการใหม่หมด

อีกทั้งยังมีการสร้างทางเชื่อมต่อจากที่นี่ไปยังเมืองเมาะละแหมง ที่จะต้องตัดผ่านเมืองพะโค พะอาน ซึ่งผมเคยเล่าให้ฟังมาก่อนแล้วนั่นเอง อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีการประกาศว่า จะมีโครงการที่กำลังจะสร้างถนนต่อไปยังเมืองมัณฑะเลย์อีกด้วยครับ

เรียกว่าสมบูรณ์แบบไม่มีที่ติครับ ปัจจุบันนี้มีบริษัทญี่ปุ่นอยู่ 24 โรงงาน ไทย 14 โรงงาน เกาหลีใต้ 6 ไต้หวัน 5 สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา มีประเทศละ 3 โรงงานภายในมีหน่วยงานราชการมาคอยบริการอย่างสะดวกสบายมาก

เรามาดูที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมติล่าวาที่อยู่นอกรั้วบ้าง ดั้งเดิมก่อนที่จะเริ่มมีโครงการ SEZ นั้น ที่นี่ได้มีนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นของนักธุรกิจเมียนมามาก่อน เรียกว่า Local Myanmar Thilawa Industrial Zone ที่นี่จะอยู่นอกรั้วของนิคมฯญี่ปุ่นเลยออกมาข้ามอีกฝั่งของถนน ซึ่งเป็นZone เก่ามาก

โครงสร้างพื้นฐานจะเป็นแบบดั้งเดิมทั่วไป ธรรมดาๆ ไม่หรูหราเหมือนของญี่ปุ่น อีกทั้งพื้นที่ก็ไม่ได้ถมที่ดินมาก สูงต่ำจึงไม่สม่ำเสมอด้านนอกมองดูเหมือนสูง พอเข้าซอยไปประมาณ 500 เมตร พื้นดินจะลาดต่ำลงไป พื้นที่ไม่ค่อยจะสวยเท่าไหร่

แต่ราคาจะถูกกว่าในนิคมฯSEZประมาณ 30% แต่ละแปลงไม่ใหญ่มาก 2-3 เอเคอร์เท่านั้น ในขณะที่ใน SEZ จะมีแต่แปลงใหญ่ๆ หลัก10 เอเคอร์เกือบทั้งหมด ทั้ง 2 นิคมฯจะมีข้อเสียที่แรงงานมีไม่มาก ห่างไกลความเจริญในเมืองพอควร ขับรถประมาณ 40 นาที(ในปัจจุบัน) ข้อดีคืออย่าที่เล่านั่นแหละครับ สรุป ถ้าจะเอาแบบหรูหรา สะดวกสบาย ราคาสูงหน่อย ก็ต้องไปเอาที่ SEZ

ถ้าจะเอาแบบถูกๆ Localหน่อย ก็ต้องเอาที่ Myanmar Zone แหละครับ