posttoday

เปรียบเทียบนิคมอุตสามหกรรมในนครย่างกุ้ง 1

20 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

เมื่อวันอังคารที่ 16 ที่ผ่านมา มีเพื่อนกรรมการสภาธุรกิจไทย-เมียนมามาเยี่ยมเยือนที่บริษัทและมาขอความเห็นเรื่องการเลือกโลเกชั่นในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อที่จะตั้งโรงงานในเมียนมา

ผมได้ให้ความเห็นถึงจุดอ่อน-จุดแข็งของแต่ละนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในนครย่างกุ้งไป ซึ่งเอาเท่าที่ประสบการณ์จากการตะเวนเสาะหาแหล่งที่ตั้งโรงงานทั่วนครย่างกุ้ง ซึ่งมีทั้งหมด 19 นิคมฯด้วยกันทำให้พอจะอนุมาณได้ว่าแต่ละแห่งมีจุดอ่อนอะไรมีจุดแข็งอะไรราคาเป็นเท่าไหร่ต่อเอเคอร์

จึงได้เล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็เสนอแนะว่า

ควรจะนำมาลงในคอลัมน์นี้ เพื่อให้นักลงทุนไทย ที่จะไปลงทุนเป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการหาซื้อในอนาคตได้ ผมก็ได้แต่บอกว่าข้อมูลที่ผมจะนำมาเสนอในอีก 5-6 ตอนต่อไปนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น

หากกาลเวลาผ่านไป สถานการณ์เปลี่ยน ถนนหนทางปรับปรุง ราคาก็เปลี่ยนไป ความเหมาะสมก็อาจจะแปรเปลี่ยนไปนะครับ ท่านต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเองนะครับ

ผมขอเริ่มจากนิคมอุตสาหกรรมลานตะย่า (Hlaingtahaya) ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงย่างกุ้ง ถนนที่วิ่งตรงไปยังรัฐอิยะวดี

เมื่อสะพานมาจากเขตอินเซ่ง (Insein) อยู่ฝั่งซ้ายมือของถนน ส่วนฝั่งขวามือจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมชเวลิ่นปัน ซึ่งทั้งสองฝั่งนี้ นิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นก่อน น่าจะเป็นฝั่งของนิคมอุตสาหกรรมชเวลิ่นปัน(ShweLin Ban) เป็นที่นี่จะดูด้อยกว่าฝั่งนิคมฯลันตะย่ามาก

จุดแข็งของนิคมฯลันตาย่า เป็นเพราะที่นี่เป็นนิคมฯที่ดีที่สุดในยุคก่อนปี 2000 ที่นี่ได้พัฒนาให้เป็นนิคมฯที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ที่ดินภายในนิคมฯจะมีสนามกอล์ฟ 18 หลุมที่สวยงาม ภายในสนามกอล์ฟจะมีคลับเฮาส์ที่ทันสมัยสวยงาม มีห้องอาหารไทยอยู่ในนั้นด้วย สภาพสนามก็นับได้ว่าสวยงามดีมาก เป็นที่นิยมของนักธุรกิจทั้งเมียนมาและต่างชาติ

ส่วนภายในนิคมฯจะตัดแบ่งเป็นบล๊อคๆ ที่ประมาณตั้งแต่ 5-20 เอเคอร์ แล้วแต่ถนนซอย ในPhase 1 ขายหมดแล้ว จะมีเปลี่ยนมือได้บางเป็นบางบล๊อค ที่ดินว่างเปล่าที่ยังไม่ได้ก่อสร้างจะมีให้เห็นบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ทางโครงการได้สร้าง

Phase2และPhase3 ปัจจุบันนี้ได้ขายไปเยอะมากแล้ว ในความเข้าใจของผมน่าจะขายหมดแล้ว แต่ก็มีนายหน้านำมาเสนอขายให้ครับ จุดเด่นของที่นี่อีกอย่างคือด้านไฟฟ้าและน้ำปะปา ในช่วงก่อนปี 2000 นครย่างกุ้งขาดแคลนไฟฟ้ามาก

แต่ที่นิคมฯนี้จะไม่ค่อยขาดไฟฟ้า ในยุคนั้นแม้จะมีเสาไฟฟ้าเล็กๆเหมือนเสาโทรเลขบ้านเรา

แต่ไฟฟ้าก็ยังดีกว่าเขตต่างๆในนครย่างกุ้งมาก

ปัจจุบันนี้ได้มีการเปลี่ยนเป็นเสาไฟฟ้าแรงสูงกันแล้วครับ ส่วนถนนในโครงการจะไม่ค่อยจะดีเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะรถบรรทุกใหญ่เข้าไปรับขน-ส่งสินค้าเยอะ เลยทำให้ถนนพังหมด

ส่วนท่อระบายน้ำก็จะทำใว้ริมถนนโครงการ เป็นร่องน้ำเปิด ไม่มีฝาปิด เวลาฝนตกน้ำจะท่วมบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าฝั่งนิคมฯชเวลิ่นปัน จุดแข็งอีกอย่าง คือ แรงงาน ที่นี่จะมีชุมชนใหญ่ แรงงานที่นี่จะไม่เคยขาดเลย

ในอดีตจุดอ่อนของนิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า คือ สะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้งมีแค่แห่งเดียว การเดินทางมาที่นี่รถจะติดเป็นขบวน เพราะหน้าสะพานจะมีด่านเก็บเงินค่าผ่านทางอยู่ทั้งสองฝั่งสะพาน

ช่องทางจราจรบนสะพานมีแค่ไปกลับสองช่องทาง ทำให้มีปัญหาในการเสียเวลามาก

ปัจจุบันนี้ มีสะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้งถึง 3 สะพานส่วนสะพานเก่าได้มีการปรับปรุงและสร้างสะพานคู่ขนานเพิ่มอีกหนึ่งสะพาน

สะพานใหม่ทั้ง 2 แห่งซึ่งจะอยู่เลยไปทางทิศเหนือของสะพานเก่า และหากข้ามมาจาก 2 สะพานที่สร้างใหม่นี้จะต้องเลี้ยวซ้ายแล้ววิ่งผ่านนิคมอุตสาหกรรมชเวลิ่นปันออกมาพอทะลุข้ามถนนก็วิ่งเข้านิคมอุตสาหกรรมลันตาย่าได้เลยครับ

ส่วนถนนหน้านิคมฯทั้งสองแห่งนี้ยังแย่มากเละเป็นหลุมเป็นบ่อ เพราะรถยนต์ที่จะออกไปฝั่งตะวันตกของเมียนมาจะต้องวิ่งผ่านที่นี่หมด ไม่ว่าจะไปรัฐยะไข่ ฉิ่น มะไกว หรือ รัฐอิยะวดี ล้วนแล้วแต่จะต้องวิ่งผ่านที่นี่ทั้งหมด การจราจรจึงคึกคักมากตลอดวันถนนจึงพังหมดแต่ได้ข่าวมาว่า จะมีการปรับปรุงถนนหน้านิคมฯในไม่ช้านี้ครับ

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมชเวลิ่นปันซึ่งอยู่ฝั่งตรง พอลงจากสะพานเก่ามา (ปัจจุบันนี้สะพานแรกได้ปรับปรุงเป็นไปกลับ 4 ช่องทางเดิน) ก็จะเห็นหมู่บ้าน FMI อยู่ด้านขวามือ พอเลยมาจะป็นสี่แยก เลี้ยวขวาเข้านิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า

เลี้ยวซ้ายจะเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมชเวลิ่นปัน พอเข้าไปไม่ถึงห้าสิบเมตร เราก็จะได้เจอกับผิวโลกพระจันทร์ทันทีครับ ถนนในนิคมฯนี้เป็นหลุมเป็นบ่อตลอดเกือบทุกซอกซอย

จุดแข็งของที่นี่ที่ผมชอบคือราคาถูกกว่านิคมฯลันตาย่าประมาณ 30% และพอเข้าไปลึกๆด้านในด้านที่ติดแม่น้ำย่างกุ้งยังเป็นที่ดินให้สร้างโรงงานได้

ดั้งนั้นถ้าท่านจะเลือกที่ดินที่ติดแม่น้ำ ก็จะได้ท่าเรือที่สามารถขนถ่ายสินค้าได้เลย ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า

เขาจะเอาที่ดินส่วนติดแม่น้ำไปเป็นสนามกอล์ฟทั้งหมดโรงงานจึงไม่สามารถมีท่าเรือได้จุดเด่นอีกอย่างที่นอกจากราคาถูกแล้วที่นี่น้ำยังดีด้วย

ถ้าจะทำโรงงานเครื่องดื่ม ที่นี่สามารถเจาะน้ำบาดาลลงไปได้เลยครับ ส่วนแรงงานที่นี่จะมีชุมชนอาศัยอยู่เยอะมาก

ส่วนใหญ่มักจะข้ามถนนไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า แต่ถ้ามีงานที่นี่ เขาน่าจะเลือกทำที่นี่มากกว่าที่นิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า เพราะเดินไปก็ถึงโรงงานแล้วครับ อย่างไรก็ตามทั้งสองแห่งเปรียบเทียบกัน

ถ้าเอาความทันสมัย เอาความสะดวก เอาไฟฟ้าและหน้าตา ต้องที่นิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า ถ้าเอาเรื่องของราคา เอาแรงงาน ต้องที่นิคมอุตสาหกรรมชเวลินปัน เลือกเอาเองนะครับ

ตอนต่อไปผมจะนำเอานิคมอุตสาหกรรมอื่นๆมาเปรียบเทียบให้ได้อ่านอีกนะครับ