posttoday

เมื่อเงินอุดหนุนเริ่มกลไกการทำงาน

30 พฤษภาคม 2563

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมาผมเอาเรื่องของเงินที่เข้ามาสู่เมียนมาในรูปของเงินอุดหนุนเงินบริจาค และเงินลงทุนในช่วงก่อนและหลังเจ้าวายร้าย COVID19 จะเข้ามาสู่ประเทศเมียนมา

เราจะเห็นว่าแต่ละประเทศทำตัวเหมือนหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ที่เข้ามาจีบสาวน้อย(เมียนมา) ด้วยการเป็นเจ้าบุญทุ่ม ให้ทั้งเวชภัณฑ์และยาในรูปเงินให้เปล่าก็มี ซึ่งทำให้ส่งผลต่อดุลการชำระเงินของประเทศเมียนมา

ผมพยายามใช้คำพูดที่ฟังดูง่ายๆและเข้าใจง่ายๆ(สำหรับคนที่มีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์) ก็มีคำถามและคำติชมมาเยอะพอควร ท่านหนึ่งบอกว่าอ่านแล้วทำไมจบแบบห้วนๆ บางท่านก็บอกว่าช่วยต่ออีกนิดให้เข้าใจว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อได้มั้ย

อีกท่านบอกว่าเหมือน...ไม่สุด ขาดไปนิดนึงนะ อีกท่านก็มีคำถามว่าแล้ว GSP คือ อะไรละ เอาละครับ ผมจะเขียนทีละเรื่องนะครับ

เอาเรื่องง่ายๆก่อน GSP ย่อมาจาก Generalizes System of Preferences หรือ อีกความหมายหนึ่งคือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ประเทศพัฒนาแล้ว ให้แก่ประเทศด้วยพัฒนากว่า

เพื่อให้สินค้าของประเทศกำลังพัฒนา หรือ ด้อยพัฒนาสามารถแข่งขันกับชาวบ้านเขาได้ ด้วยความเป็นธรรมทางภาษีนั่นเองครับ

เพราะประเทศพัฒนาแล้วเขามีทั้งเงินทุน กำลังคน กำลังเทคโนโลยี เขาจึงมีขีดความสามารถการแข่งขันด้วยการประหยัดต่อขนาด หรือกำลังการผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่า (Economic of scale)นั่นเองครับ

เขาจึงคิดหาทางช่วยเหลือให้ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาอยู่ได้ไงครับ มาดูกันถึงเม็ดเงินที่เข้าสู่ประเทศเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงินลงทุน หรือ เงินและสิ่งของให้เปล่าก็ดีการบันทึกบัญชีครั้งที่ผ่านมาได้เล่าให้ฟังแล้ว

เรามาดูกันว่าแล้วเม็ดเงินเหล่านั้นจะไปทางไหน จะทำหน้าที่อย่างไรในการกระตุ้นเศรษฐกิจละครับ ต้องเข้าใจก่อนครับว่า

เม็ดเงินเหล่านั้นในทางเศรษฐศาสตร์เขามีคำเรียกว่า “M1, M2, M3” ซึ่งอธิบายง่ายๆก็คือ M1 หมายถึงเงินในนิยามแบบแคบๆ ซึ่งก็หมายถึงเงินที่เป็น ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ บวกกับเงินฝากกระแสรายวัน ส่วน M2 หมายถึงเงินทั้งหมดของ M1 บวกกับเงินออมทรัพย์ เงินฝากประจำของประชาชนและตั๋วสัญญาใช้เงินที่สถาบันการเงินออกให้กับประชาชน

สุดท้าย M3 คือ ความหมายของเงินที่กว้างที่สุด ง่ายๆ ก็คือสิ่งที่ใช้ในรูปของเงินทั้งหมดนั่นแหละครับแปลไทยเป็นไทยง่ายๆก็ตามข้างบนนี้แหละครับ

ทีนี้เรามาดูว่าไอ้เจ้าเงินที่มนุษย์ปถุชนคนเดินดินอย่างเราๆท่านๆ ต้องมาแก่งแย่งชิงดีกันเพื่อมันนั้น มีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องมาแข่งกันเพราะ “เงิน” บ้างก็ฆ่ากันตายเพราะ “เงิน” บ้างก็เป็นทุกข์เป็นสุขเพราะ “เงิน” บ้างก็เป็นบ้าเป็นหลังเพราะ “เงิน”

จนบางรัฐบาลต้องมาออกคำขวัญวันเด็กว่า “งาน คือ เงิน เงิน คือ งาน บันดาลสุข” แต่ในทางธรรมะก็บอกว่าปล่อยวางบ้างเถอะโยม เวลามาก็มาตัวเปล่า ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ เฮ้อ....แต่เราก็ต้องการมันอยู่ดี

เพราะไม่มีเงิน ทุกอย่างก็ไม่สามารถ.....นั่นเองครับ

ในทางเศรษฐศาสตร์ “เงิน” นั้นผู้ที่มีบทบาทในการทำให้เงินนั้นมีมากขึ้น เป็นหลายเท่าตัวก็คือ “สถาบันการเงินและธนาคาร”นั่นเอง เพราะจากจำนวนเงินเริ่มต้นเมื่ออยู่ในมือเขา เขาก็จะปล่อยให้กู้ยืมไปสร้างเม็ดเงินในระบบเพิ่มขึ้น

ด้วยการให้ประชาชนนำไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลกำไร แล้วนำไปจ่ายเป็นค่าต้นทุนค่าสินค้า ค่าแรง ค่าจิปาถะอื่นๆ เงินเหล่านั้นก็จะไปสร้างกระแสเงินในระบบเพิ่มขึ้น จากสองเป็นสาม สามเป็นหก หกเป็นสิบสองเรื่อยๆขึ้นไป

จนกระทั่ง ธนาคารแห่งหนึ่ง เคยทำโฆษณา จำได้มั้ยครับ “เงินกำลังจะหมุนไป กำลังจะหมุนไป” ไงละครับ นั่นเป็นการสร้างกระแสเงินสดในระบบเศรษฐศาสตร์ละครับ อธิบายง่ายๆอย่างนี้

ท่านคงพอจะเห็นภาพแล้วนะครับ

ลองมาย้อนกลับกันในระบบเศรษฐศาสตร์ ถ้าเม็ดเงินหดหายไป การสร้างเงินของสถาบันการเงินก็จะไม่มีประสิทธิภาพ เงินในระบบก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามทฤษฎี “ Bandwagon Effect”คือ กระแสที่วิ่งตามกันของมนุษย์ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดนั่นเอง

นี่คือสาเหตุที่ผมเกรงกลัวมากสำหรับเศรษฐกิจบ้านเราในขณะนี้นั่นเอง ก็คือกลัวว่าจะไม่มีเม็ดเงินในระบบมาหล่อเลี้ยง เพราะคนหยุดงานและตกงานกันเยอะ จึงทำให้ไม่มีรายได้ที่เป็นตัวเงินมาใช้จ่ายกัน ตัว C ในระบบเศรษฐศาสตร์ หรือที่เรียกว่าการจับจ่ายใช้สอยในภาคประชาชนมีน้อยลงนั่นเองครับ

มาดูที่เมียนมากันบ้างนะครับ พอมีเม็ดเงินเข้ามา ไม่ว่าจะมาในรูปของเงินอุดหนุน เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เงินลงทุนในสาธารณูปโภคต่างๆ เงินลงทุนในภาคธุรกิจ และเงินเข้ามาในโครงการพัฒนาประเทศต่างๆของต่างประเทศจึงทำให้กระแสเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศเมียนมามีมากกว่าในประเทศไทยไงครับ

ดังนั้นไม่ต้องไปหาหมอดูอีที หรือองค์เจ้าเข้าทรงที่ไหนให้เสียเวลาหรอกครับ แค่นี้ก็พอจะคาดเดาได้ว่าพอเหตุการณ์เจ้าวายร้าย COVID19 ผ่านไป อะไรจะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจเมียนมาครับ

แล้วเรายังจะมามัวกังวลหรือชักช้าอยู่อีกหรือครับ โอกาสในชีวิตคนเรานั้นอาจจะมีแค่ครั้งเดียว หรือหลายครั้งสำหรับคนที่ดวงดี

แต่แม้จะมีเพียงแค่ครั้งเดียว ถ้ารู้จักฉกฉวยโอกาสนั้นใว้ ก็ยังดีกว่าคนที่ดวงดีมีโอกาสหลายครั้ง แต่ไม่รู้จักฉกฉวยโอกาสนั้นใว้เลย

สุดท้ายก็ตกรถด่วนขบวนสุดท้ายกัน แล้วคงต้องรอที่จะไปหาโอกาสต่อใหม่กันที่อาฟริกากันในอนาคตแล้วละครับ