posttoday

เงินช่วยเหลือเมียนมาจากต่างประเทศ

23 พฤษภาคม 2563

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในระยะที่เกิดโรคระบาด COVID19 เข้ามาสู่ประเทศเมียนมา หรือ ที่ระบาดไปทั่วโลก เราจะเห็นว่ามีความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบัญชีรายได้สุทธิจากต่างประเทศหรือไม่ก็เป็นบัญชีเงินกู้ยืมจากต่างประเทศนั่นเอง

แต่ท่านที่ไม่ได้ร่ำเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มา ท่านอาจจะงงๆ ว่าเอ๊ะ.....มันคืออะไร ผมจึงขออนุญาตอธิบายอย่างง่ายๆให้ท่านได้เข้าใจนะครับ ท่านที่มีความรู้อยู่แล้ว ก็ถือเสียว่าผมมาทบทวนความทรงจำขั้นพื้นฐานให้ท่านอ่านเล่นๆก็แล้วกัน

อย่าถือสาว่าผมริอ่านสอนเลยนะครับ

ทุกๆประเทศนั้นระบบเศรษฐศาสตร์มหภาค ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจในประเทศจะมีความเจริญก้าวหน้าแค่ไหน เขาก็จะดูกันที่ “ดุลการชำระเงิน”

เราจะเห็นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะออกมาประกาศผลทุกๆเดือนว่า ดัชนีโน่นนี่นั่นเป็นเท่านี้เท่านั้น เป็นต้น ประชาชนชาวบ้านทั่วไปก็ได้แต่อ้าปากว๋อ....เขาประกาศอะไร

เราก็กินข้าวแกงจานละสามสิบสี่สิบบาทเหมือนเดิม เอาว่ารู้ใว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหามก็แล้วกันนะครับ ดุลการชำระเงินนั้นจะประกอบด้วยบัญชีหลักอยู่ 3 ขา คือ 1, บัญชีเดินสะพัด 2, บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย 3,บัญชีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทีนี้เรามาดูแต่ละขาบัญชีอีกทีนะครับ

เรามาดูที่“บัญชีเงินเดินสะพัด”ก่อน ก็จะประกอบด้วย 3 ขาเช่นกัน อันประกอบด้วย 1,บัญชีดุลการค้าและบริการ อันนี้ได้ยินกันบ่อยๆคุ้นเคยกันดีทีเดียว 2, บัญชีเงินโอน 3, บัญชีรายได้สุทธิจากต่างประเทศ ในบัญชีเงินเดินสะพัดนี้

เดี๋ยวเราค่อยมาลงลึกเข้าไปอีกทีนะครับ บัญชีขาที่ 2 คือ “บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย” ก็จะประกอบด้วย 3 ขาอีกเช่นกัน คือ 1, บัญชีการลงทุนทางตรง 2, บัญชีการลงทุนทางอ้อม 3, บัญชีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ หนึ่งใน 3 ขานี้เดี๋ยวเราจะมาว่ากันต่อนะครับ

บัญชีขาที่ 3 คือ “บัญชีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ” ก็จะประกอบด้วย 4 ขาครับ คือ 1, ทองคำที่เป็นเงินตรา 2, เงินตราต่างประเทศ 3, สิทธิพิเศษในการถอนเงิน (Special Drawing Rights)หรือที่เขาเรียกย่อๆว่า “SDRs” 4, ทรัพย์สินอื่นๆเช่น หลักทรัพย์ต่างประเทศ ทรัพย์สินที่ส่งสมทบ IMF หลักทรัพย์รัฐบาลตั๋วเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อเอาใว้เป็นต้น

ถ้าเป็นเงินของแผ่นดินเรานับรวมหมด นี่คือรวมเบ็ดเสร็จแล้วก็คือ “ดุลการชำระเงิน”ละครับ ประเทศจะใหญ่จะเล็ก จะร่ำจะรวยหรือยากจน เขาก็จะวัดกันที่ดุลการชำระเงินนี่แหละครับ

ทีนี้เรามาดูว่าประเทศไหนถ้าร่ำรวยอยู่แล้ว การให้ความช่วยเหลือจากประเทศที่รวยกว่า ก็จะน้อยแต่ถ้าประเทศไหนถ้ายากจนเข็ญใจ เขาก็จะให้ความช่วยเหลือกันจากประเทศที่ใหญ่กว่า ประเทศไทยเราเองก็เคยอยู่ในฐานะยากจนมาก่อน เมื่อห้าหกสิบปีก่อน ก็ได้รับความช่วยเหลือมาแล้วเช่นกัน

แต่พอเราพัฒนาแล้วเขาก็จะค่อยๆไม่ให้ความช่วยเหลือกันแล้ว แถมยังค่อยๆตัดความช่วยเหลือออกไปทีละนิดทีละหน่อยตลอดเวลา จะเห็นได้จากการตัด GSP ของยุโรปบ้าง สหรัฐอเมริกาบ้าง ตัดเงินช่วยเหลือโน่น นี่ นั่นบ้าง แล้ว

เราก็มัวแต่ไปกล่าวโทษรัฐบาลในแต่ละยุคที่ถูกตัดนั้นๆ เราไม่มามองว่า “ก็เราพัฒนาแล้ววว” เลยนะครับ หันมามองในยุคปัจจุบันบ้าง ประเทศเมียนมายังอยู่ในยุคของประเทศเล็กและกำลังจะพัฒนา

ดังนั้นหลากหลายประเทศก็กระโดดเข้าไปช่วยเหลือกันเป็นระวิง จะเห็นทั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีการช่วยเหลืออย่างมีเหตุ(อย่างมีข้อแม้)และมีผล(ตอบแทน) ส่วนประเทศญี่ปุ่นประเทศเกาหลีใต้ก็กระโดดเข้าไปเช่นกัน เพราะเห็นถึงผลประโยชน์ในอนาคตไง ที่เห็นว่าการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ก็จะมีเพียงธนาคารโลก(World Bank) ธนาคารการพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank) และองค์กรการกุศลเท่านั้น

พวกนี้เงินที่เขาให้การช่วยเหลือ ไม่ค่อยจะมีอะไรแอบแฝงนักหรอกครับ