posttoday

หากเมื่อฟ้าหลังฝน

09 พฤษภาคม 2563

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เริ่มมีคนส่งคำถามมาว่า หาก COVID19 ผ่านไป เมียนมาจะมีการพัฒนาไปในรูปแบบไหน ซึ่งก็ตรงกับคำถามที่ในใจผมคิดอยู่เลย ต้องบอกว่ายากที่จะคาดเดาได้นะครับ แต่เอาเป็นว่าในมุมมองของผมก็แล้วกัน

เรามาลองคาดเดากันเล่นๆสนุกๆ จะได้เห็นภาพในอนาคตของเมียนมาดูนะครับ วันนี้ผู้ประกอบการในเมียนมาเองก็เริ่มร้องขอความช่วยเหลือออกมาแล้ว ทางฝั่งภาครัฐเองก็เริ่มที่จะขยับตัวเพื่อรอรับชะตากรรมหลัง COVID19 บ้างแล้วครับ

เสียงเรียกร้องมีเข้ามามากขึ้น เช่นการร้องขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมเงินจำนวนมากใว้คอยสนองตอบความต้องการสินเชื่อแล้ว

แต่คุณสมบัติที่ทางภาครัฐตั้งใว้ก็ค่อนข้างจะหินพอควร โดยผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีกำไรสุทธิขั้นต่ำตั้งแต่ 100 ล้านจ๊าด กำไรขั้นต่ำ 200 ล้านจ๊าด และกำไรขั้นต่ำ 300 ล้านจ๊าด

อีกทั้งต้องเป็นธุรกิจที่มีพนักงานเยอะ และมีงบการเงินที่สวยงาม มีประวัติในการชำระภาษีที่ตรงเวลา ก็สามารถขอกู้เงินรัฐบาลที่จะให้กู้ตั้งแต่ 100 ล้านบาท 1,000 ล้านจ๊าด จากกองทุนกู้ภัยโรคระบาด COVID19 ที่มีกองทุนอยู่ 71 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรากฏว่ามีบริษัทที่ยื่นขอสินเชื่อมากมาย เช่นที่ส่วนกลางยื่นขอไป 1,600 บริษัท แต่มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ได้รับสินเชื่อนี้

โดยมีหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่ยื่นขอมา เช่นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจภาคการผลิตต่างๆเป็นต้น แต่ส่วนมากจะไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เพราะความโปร่งใส การคัดเลือกส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

คือ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร ในส่วนของร้านอาหารเริ่มที่จะรู้ตัวแล้วว่าทำอย่างไรก็ผ่านยาก จึงมีการเรียกร้องความช่วยเหลืออื่นๆตามมาแล้วครับ เช่น Ko Thaw Zin เจ้าของร้านอาหารในเขต Yankin ซึ่งเป็นเขตที่มีร้านอาหารมีมากถึง 40% ของร้านอาหารทั้งหมดในเมืองย่างกุ้ง

ซึ่งหากจะเข้าสู่โปรแกรมช่วยเหลือตามมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID19 พวกเขาหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงโปรแกรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เลย เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ค่อนข้างจะเข้มงวด

ดังนั้นเขาจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเรื่องการส่งกระแสไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ เพราะปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป จากการที่สนามบินปิดไปการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว และคนต่างชาติที่ทำงานที่นั่นเข้ามาไม่ได้

แต่ค่าใช้จ่ายคงที่ไม่ได้ลดลง ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ไฟฟ้าในเขต Yankin ก็ผีเข้าผีออก มีการตัดกระแสไฟฟ้าเป็นประจำ เหตุเพราะทางการได้จัดความสำคัญของประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า

โดยอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาเป็นอันดับแรก ต่อด้วยอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล สถานบริการด้านการแพทย์ ครัวเรือน สถานบันเทิงและร้านอาหารเป็นอันดับสุดท้าย

ซึ่งในช่วงฤดูร้อนทุกปีก็จะเป็นปกติที่จะถูกตัดไฟฟ้า เพราะน้ำในเขื่อนลดลง ความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้การผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการทุกปี ในส่วนของร้านอาหารรายได้ลดลงมามากถึงแปดเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ จึงอยากได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐบาล

หากมาดูโอกาสทางการค้าต่างๆที่จะตามมาหลังที่เจ้าวายร้าย COVID19 ได้จากไปว่าจะมีโอกาสอะไรบ้าง เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแปลงของตลาดเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน

ดังนั้นอาจจะมีโอกาสของธุรกิจที่แตกต่างจากเดิมแน่นอน ธุรกิจที่น่าจับตาอย่างยิ่งคือธุรกิจออนไลน์มาเก็ตติ้ง ซึ่งจะมีการเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ แม้จะเข้ามาแล้วเมื่อสักสี่ห้าปีก่อน แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่หลังจากที่เกิดสภาวะภัยร้าย ผู้บริโภคก็เริ่มปรับตัวรับได้กับการจับจ่ายใช้สอยก็หันมาใช้บริการกันและเกิดความคุ้นเคยมากขึ้น

เหตุที่ธุรกิจด้านนี้เป็นธุรกิจที่ใช้ต้นทุนต่ำ จึงน่าจับตามองกันให้ดี อีกประการหนึ่งคือความได้เปรียบของโปรแกรมเมอร์ชาวไทย ที่มีความสามารถสูง แม้จะมีจุดด้อยกว่าชาวเมียนมาในเรื่องความคุ้นเคยของวัฒนธรรม รสนิยม ข้อต้องห้ามต่างๆ และความต้องการของตลาด แต่ถ้าหากท่านมีคู้ค้าอยู่ ก็นำเอาจุดแข็งที่มีอยู่ไปบวกกับคู่ค้าของท่าน แล้วลุยตลาดไปด้วยกัน ก็น่าจะเป็นผลดีนะครับ

อีกธุรกิจหนึ่งคือธุรกิจแพทย์พยาบาลและยารักษาโรคผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากภัยร้ายผ่านไป ชาวเมียนมาต้องหันมามองด้านสุขภาพกันมากขึ้น อีกทั้งจะต้องระมัดระวังชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองมากขึ้นอย่างแน่นอน จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจดังกล่าว

อีกธุรกิจหนึ่งคือธุรกิจโลจิสติกหรือการขนส่งก็น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะในช่วงนี้มีหลายธุรกิจได้หยุดชะงักลง ทำให้พอเริ่มเปิดศักราชใหม่อีกครั้ง ทุกๆหน่วยงานจะต้องเร่งค้าขายกันตัวเป็นมัน ทำให้ความต้องการหรืออุปสงค์มีมากขึ้น แต่ด้านอุปทานคงที่ ทำให้ธุรกิจด้านนี้ไม่พอเพียงต่อความต้องการแน่นอน

อีกธุรกิจหนึ่งต่อเนื่องจากโลจิสติกคือธุรกิจ Delivery ที่เป็นธุรกิจส่งสินค้าหรืออาหารส่งตามบ้าน ที่เมียนมาในระยะกำลังมาแรงมาก ถ้าหากสถานการณ์ยืดเยื้อ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โอกาสที่เขาจะเคยชินในการใช้ Delivery ก็จะมากขึ้น

ดังนั้นน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่มีศักยภาพที่อยากเข้าไปทำธุรกิจที่นั่นเลยครับส่วนธุรกิจอื่นๆนั้นยังมีอีกเยอะที่มีโอกาสในเมียนมาอีกมาก คอยติดตามตอนต่อไปนะครับ