posttoday

ความเคลื่อนไหวของตลาดเมียนมา

02 พฤษภาคม 2563

โดย กริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์

แม้ในช่วงระยะสองเดือนมานี้ ผมไม่สามารถเดินทางเข้าไปย่างกุ้งได้ เพราะเหตุการณ์เจ้าวายร้าย COVID19 อาละวาด แต่น้องๆที่บริษัทผมในย่างกุ้ง ก็ส่งข่าวเข้ามาแทบทุกวัน จึงทำให้แม้ตัวอยู่ไกล แต่ใจยังอยู่ที่เมียนมาตลอด

ได้แต่รับฟังข่าวคราว อีกทั้งรอวันเวลาที่ฟ้าเปิดอีกครั้งเท่านั้นครับ คาดว่าคงอีกนานกว่าจะเข้าที่เข้าทางอีกครั้งครับ ในระยะนี้นอกจากข่าวที่ทางน้องๆที่บริษัทผมส่งมา ยังมีข่าวจากคุณเบ็นสัน ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในอาคารไทย-เมียนมาเทรดเซ็นเตอร์ส่งมาให้อ่านทุกเช้า

และที่บริษัทในกรุงเทพฯเอง ก็สามารถหาอ่านได้ทางเวปไซต์ของอิยะวดีนิวส์ และน้องทู พนักงานคนเมียนมาก็จะก๊อปปี้ข่าวเมียนมามาให้อ่านวันเว้นวัน เสพข่าวกันจนสนุกสนานทุกวันเลยครับ

ดังนั้นท่านไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมผมจึงมีข้อมูลข่าวสารมาเล่าให้ฟังได้ทุกอาทิตย์ครับจนบางครั้งที่ออกอากาศทางวิทยุ FMอสมท100.5 ช่วงเช้าวันพฤหัสในรายการ Goodmorning ASEAN จะมีเรื่องราวเยอะมาก จนเล่าไม่หมดเลยครับ

มาพูดถึงตลาดในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้เล็งเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในการที่ต้องปิดประเทศ อีกทั้งต้องเคอร์ฟิ; ทำให้ถนนหนทางเงียบเหงาไปถนัดตา และทำให้ผู้คนตกงานกันเยอะมาก

ตลาดการค้าในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ปิดตัวลงไปเยอะมาก ร้านอาหารปิดหมด ทำให้เกิดFood Delivery เกิดขึ้นในย่างกุ้งทั้งหมด 5 บริษัทด้วยกัน เช่น Food 2 You, YangonDoor 2 Door, Grab Food, Hi-So Mail, Food Panda เป็นต้น

เป็นสิ่งแปลกใหม่ในตลาดเมียนมา แม้ว่าที่ประเทศไทยเรานั้นมี Grab,ไลน์แมน และอีกหลายบริษัท แต่ที่เมียนมาเขาห้ามรถมอเตอร์ไซร์วิ่งในเมืองย่างกุ้ง ดังนั้น Food Delivery เหล่านี้ เขาใช้รถจักรยานในการส่งอาหารกันครับ ก็เป็นอะไรที่แปลกตาดีครับ

ผลกระทบอีกประการหนึ่งคือผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถแบกรับภาระการผ่อน เงินกู้การลงทุน อีกทั้งภาระการขาดทุนที่เกิดจากตลาดซบเซาไม่ไหว ทำให้เริ่มมีการร้องขอความช่วยเหลือไปยังภาครัฐกันมากขึ้น

ธนาคารกลางของเมียนมาจึงได้ประกาศลดดอกเบี้ยทั้งระบบไปแล้วถึงสามครั้ง คือ ครั้งที่ 1ลดไป 0.5% เมื่อวันที่ 12 มีนาคม และในครั้งที่ 2 ลดลงไปอีก 1% ในวันที่ 24 มีนาคม และในวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ประกาศลดลงไปอีก 1.5% สรุปลดไปรวมทั้งหมด 3% แล้วครับ

โดยทางธนาคารกลางเมียนมาคาดว่าการลดดอกเบี้ยทั้ง 3 ครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากภัยร้ายครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วจะเป็นอย่างไรนั้น หากมองจากมุมของผม ผมกลับคิดว่าผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะน้อยมากเหมือนเกาไม่ถูกที่คันนัก

เพราะการลดดอกเบี้ยทั้งระบบผลที่จะตามมาคือการกระตุ้นการลงทุนเสียมากกว่า แต่ผู้ประกอบการในประเทศเมียนมาส่วนใหญ่จะไม่ได้กู้เงินมาลงทุนกัน สิ่งที่เขาลงทุนไปแล้วนั้น ส่วนมากจะเป็นเงินสดที่สะสมมาแต่ดั้งแต่เดิมเสียมากกว่า

ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยคือการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มข้น เหมือนฉีดยาแรงมากๆ แต่ฉีดผิดยาเสียมากกว่า ครับ

หากมองดูในวันนี้ผู้ประกอบการเขาไม่สามารถอยู่ได้ เกิดจากตลาดปิด ไม่มีการซื้อ-ขาย ทำให้เกิดภาวะรายรับไม่มีเข้ามา มีแต่รายจ่ายคงที่ที่เกิดขึ้นไม่รู้จักหยุด ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายค่าดอกเบี้ย (ที่เมียนมาไม่ค่อยมี เพราะเงินสดในการลงทุน) ค่าแรงงาน ค่าเช่าพื้นที่(ถ้าเป็นที่ดินของเขาเองก็ไม่ต้องมี) ค่าน้ำค่าไฟ ภาษีที่จะต้องจ่ายให้รัฐบาล ดังนั้นการลดดอกเบี้ยทั้งระบบเมื่อนำมาใช้ที่นั่น

จึงไม่ค่อยจะเกิดประโยชน์นัก ต่างจากประเทศไทยเราที่ผู้ประกอบการร้อยละเกือบร้อยกู้เงินแบงค์มาลงทุน

หากรัฐบาลเมียนมาเลือกลดค่าแรงงานหรือช่วยสนับสนุนค่าแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการ หรืองดเก็บค่าน้ำค่าไฟฟ้า งดเก็บภาษีสักสองปี น่าจะได้ผลมากกว่า ไหนๆก็ไหนๆแล้วเงินงบประมาณแผ่นดินของเมียนมาตัวเลขยังไม่เยอะมากเท่ากับประเทศอื่นๆในภูมิภาค อีกทั้งเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาไม่น้อย ก็เอาเงินเหล่านั้นมาใช้จ่ายในการกระตุ้นตัว G หรืองบประมาณแผ่นดินเสียเลย น่าจะได้ผลมากกว่านะครับ

ส่วนที่ประเทศไทยเราเองทางรัฐบาลไทยได้ลงไปช่วยด่านสนับสนุนค่าแรงแก่ผู้ประกอบการ และให้เงิน 5,000 บาทแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ(บางกลุ่มเท่านั้น) ถือว่าเป็นการกระตุ้นที่ตัว C หรือ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ส่วนผู้ประกอบการเอง ก็มีนโยบายให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วครับ

แต่ถ้าจะให้ดีผมมองว่าไหนๆก็ไหนๆแล้ว ควรให้ธนาคารทั้งหมดหยุดดอกเบี้ยสักปีสองปีไปเลย น่าจะช่วยได้เยอะนะครับ รอทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ค่อยมาเริ่มสตาร์ทเครื่องใหม่อีกครั้งน่าจะได้ใจประชาชนอย่างพวกเรานะครับ ลุงตู่ช่วยด้วยครับ.......