posttoday

น้ำใจมหามิตร จีน

04 เมษายน 2563

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในห้วงเวลาของความยากลำบาก เราจะได้เห็นน้ำใจของคนรอบข้างเสมอ คำนี้ยังคงใช้ได้เสมอในทุกสถานการณ์ครับ

ที่ผ่านมาประเทศไทยเราเองก็เคยแสดงน้ำใจให้แก่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงที่ไข้หวัด COVID19 เกิดขึ้นใหม่ๆ ในช่วงนั้นยังไม่มีชื่อนี้เลย

เรายังเรียกขานเจ้าตัววายร้ายตัวนี้ว่า ไวรัสไข้หวัดหวู่ฮัน กันอยู่เลย ในขณะนั้นประเทศต่างๆเขากลับตั้งข้อรังเกียจ และกำลังระวังตัวเองกันแจมีแต่พี่ไทยเรานี่แหละ ที่อ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาอย่างเต็มใจ(แม้อาจจะเป็นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเมือง)

ทำให้เราได้ใจทางประเทศจีนไปเยอะ พอเกิดปัญหาเจ้าวายร้ายไวรัส COVID19ได้เดินทางมาเยือนเรา แบบเราไม่อยากต้อนรับ ทางประเทศจีนเขาเลยหันหน้ามามองเรา และส่งเวชภัณฑ์และยามาช่วยเราอยากเต็มใจ

เรียกว่า “บุณคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ” ครับ

มาดูที่ประเทศเมียนมากันบ้างครับ ในช่วงวันที่ 17-18 มกราคมปีนี้ หลังจากที่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาเซ็นต์สัญญา MOU ไป 33 ฉบับพอกลับไปถึงประเทศจีน เขาก็ต้องเผชิญกับปัญหาไวรัสหวู่ฮัน ทำให้ต้องสาระวนอยู่กับการแก้ปัญหาที่มันระบาดไปทั่วประเทศจีน ทำให้หลายเมืองต้องใช้นโยบายปิดเมืองกัน ส่งผลกระทบถึง Supply Chen กันไปทั่วโลก

พอที่ประเทศจีนปัญหาเพลาๆลง เจ้าตัวร้ายนี้ ก็หันไปเที่ยวเยี่ยมเยือนชาวโลกซะทั่วจนถึงวันนี้มีคนติดไวรัสนี้กันร้อยแปดสิบกว่าประเทศแล้ว ประธานาธิบดีสี ซึ่งแม้ว่าท่านจะเป็นคนที่รักษาสัตย์เพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะเร่งรักษาคำพูดได้ทันท่วงทีหลอกครับ

เราจึงเห็นหลายเรื่องที่ต้องเลื่อนกำหนดการออกไปไม่น้อย แต่บางเรื่องที่สามารถทำได้เลย ทางรัฐบาลจีนเขาก็เร่งรีบทำให้เหมือนกันครับ เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างให้อ่านเล่นสักหลายๆเรื่องนะครับ

โครงการที่เร่งรีบทำให้กับเมียนมา เพื่อที่จะได้ช่วยบรรเทาการตกต่ำทางเศรษฐกิจคือ โครงการความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-หล่านชาง (แม่น้ำโขงตอนบนที่อยู่ในผืนแผ่นดินจีนเรียกว่าแม่น้ำหล่านชาง)

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลเมียนมาได้มีการจัดลงนามกันระหว่างรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลจีน เพื่อจีนได้มอบเงินอุดหนุนโครงการทั้งหมด 22 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 6.78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขงโดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องมากถึง 10 กระทรวงด้วยกัน

ซึ่งเงินก้อนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด แต่จะเป็นที่เกี่ยงข้องกับประเทศเมียนมาเท่านั้นครับ

ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินก้อนนี้จะช่วยให้รายได้ประชาชาติของเมียนมาได้รับการกระตุ้นขึ้นมาบ้างเล็กน้อย ก็ยังดีนะครับ

นอกจากนั้นทางการจีนได้เร่งรัดในการทำของการที่ท่าเรือเจ้าผิว (Kyaukphyu)โดยจะเร่งสองในเจ็ดโปรเจ็คที่ได้ลงนาม MOU ใว้ที่สำคัญโครงการใหญ่ๆอีกหลายโครงการ

เช่น โครงการสร้างเมืองใหม่ย่างกุ้ง และ โครงการเขื่อนอิยะวดีในรัฐกระฉิ่น (Myit Sone) และโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนและทางรถไฟ ก็ยังคงต้องรอให้สถานการณ์ COVID19 จางลงไปก่อน จึงจะสามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ได้นับว่าเป็นการแสดงน้ำใจอันยิ่งใหญ่จริงๆของมหามิตรครับ

ในขณะที่ปัจจุบันนี้ สถานการณ์โรคระบาด COVID19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลาวาศอกลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่แรงงานเมียนมาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ได้เริ่มกลับสู่มาตุภูมิเมื่อวันเสาร์ที่ 21-23 มีนาคมที่ผ่านมา

ทำให้เกิดอาการหวาดผวาของประชาชนที่อยู่ในมหานครย่างกุ้ง จะเห็นได้ว่าได้มีคำสั่งให้ปิดร้านขายน้ำชา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการร่วมกันดื่มกินตลอดทั้งวันมาช้านานของชาวเมียนมา และยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของประชาชนตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นสูง

ยิ่งสร้างความหวาดระแวงมากขึ้น ถึงขนาดที่หลายบริษัท ไม่มีพนักงานกล้ามาทำงานกันเลย แม้ว่าทางการเมียนมาเองก็ออกมาป่าวประกาศว่า ให้งดการจัดงานเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ หรือ วันสงกรานต์ (ตะจั่นเย่)

ทุกเมืองจะงดการจัดทำปะรำเวทีสำหรับเล่นน้ำปีใหม่กัน ยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความระส่ำระสายมากขึ้น การเริ่มเก็บกักตุนอาหารก็กำลังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

การที่มหามิตรเมียนมาอย่างประเทศจีน ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเมียนมาในครั้งนี้ แม้จะยังไม่ใช่ระลอกใหญ่มากก็ตาม ผมเชื่อว่าการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและยารักษาโรคระบาด คงจะมีตามมาในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

ซึ่งนโยบายแพทย์หนึ่งมณฑลของจีนรับผิดชอบช่วยเหลือหนึ่งประเทศ ที่จีนกำลังดำเนินการช่วยเหลือประเทศต่างๆอยู่นั้น ประเทศเมียนมาย่อมเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มหามิตรอย่างจีน เขาจะต้องแสดงน้ำใจให้อย่างแน่นอน

เพราะก่อนหน้านี้ ในระหว่างที่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาเยือน ก็ได้มีการเซ็นต์ MOU การเป็นคู่มิตรระหว่ามณฑลยูนนานกับรัฐบาลย่างกุ้งอยู่แล้วครับ

หมายเหตุ เนื่องจากระยะนี้ ผมมีภาระกิจมากที่จะต้องทำ จึงขออนุญาตเขียนบทความเพียงอาทิตย์ละหนึ่งวัน จากเดิมอาทิตย์ละสองวันนะครับ