posttoday

ยาแรงทางเศรษฐกิจที่เมียนมา

21 มีนาคม 2563

เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่เมียนมาโพสต์ลงในกลุ่มเพื่อนๆและFacebook ของทางเมียนมา ถึงการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยทั้งระบบของธนาคารกลางของเมียนมา

ทำให้แวดวงของนักธุรกิจมีความตื่นตัวกันทันทีครับนี่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็วและรุนแรงอย่างมากทีเดียวครับ

หลังจากที่พิษของ COVID19 ทำให้กระทบวงกว้างเกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจที่เมียนมาจะเห็นว่าส่งผลค่อนข้างจะรุนแรง โดยทำให้ Supply Chen ทั้งระบบในวงการเศรษฐิจเริ่มส่งผลขึ้นมาทันที เริ่มจากมีการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมGarment ตัดเย็บเสื้อผ้าก่อน

ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็ได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่า กลางเดือนมีนาคมน่าจะมีการปิดตัวของโรงงานมากกว่าครึ่ง แต่ไม่ทันขาดคำก็มีการประกาศปิดไปแล้วถึง 13 แห่งทั่วเมืองย่างกุ้ง เหตุผลเพราะโรงงานผลิตวัตถุดิบในการผลิตซึ่งเป็นผ้า ด้ายที่ประเทศจีนไม่สามารถเปิดทำงานได้ จึงทำให้สินค้าไม่สามารถส่งออกได้

อีกทั้งสต๊อกที่มีอยู่ในคลังสินค้าของผู้ผลิตขาดนั่นเองครับ ต่อมาก็เป็นสินค้านำเข้าที่ส่วนใหญ่คือสินค้าอุปโภค-บริโภค ก็เริ่มจะขาดแคลนแล้วบางส่วน เพราะสินค้าจากประเทศจีนไม่สามารถส่งมาที่เมียนมาได้

ขณะนี้มีแต่สินค้าจากประเทศไทยเท่านั้นที่ยังคงมีส่งไปอยู่ไม่ขาด อีกปัจจัยหนึ่งคืออัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดแข็งค่าอย่างมีนัยยะ โดยแข็งค่าขึ้นมาถึง 10% ทีเดียว โดยอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ จ๊าดต่อเหรียญสหรัฐอยู่ที่ 1,400 จ๊าดต้นๆ แต่มาถึงวันที่ 15 มีนาคม อยู่ที่1380 จ๊าด

อีกทั้งจ๊าดต่อเงินหยวน จากเดิมอยู่ที่ 205-210 จ๊าดต่อหยวน แข็งค่าขึ้นมาถึง 198 จ๊าดต่อหยวน ค่าเงินจ๊าดต่อบาทไทย จากเดิมอยู่ที่ 48-50 จ๊าดต่อบาท แข็งค่าขึ้นมาถึง 46 จ๊าดต่อบาท

ดังนั้นสินค้าที่ขาดแคลน ซึ่งกลับสวนกระแสขึ้นราคาอย่างผิดปกติ เป็นที่น่าจับตาว่าเกิดอะไรขึ้นในเมียนมาครับ

ผมคิดเอาเองนะครับ เป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆว่า เหตุผลที่ทำให้สินค้าอุปโภค-บริโภค ขึ้นราคา แทนที่จะลดราคาหรือคงที่ ตามผลจากอัตราค่าเงินที่แข็งค่านั้น น่าจะมีปัจจัยดังนี้ครับ อาจจะเป็นเพราะว่านักธุรกิจทุกคนเขากำลังคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ของ COVID19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกกระทบอย่างรุนแรง จนเกิดการแย่งกันหาซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค เพื่อกักตุนใว้ใช้ในยามคับขัน

ซึ่งนี้เป็นเหตุผลทางฝั่ง Demand ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่งคือพ่อค้าธุรกิจเองเขาก็ไม่มีความมั่นใจว่าเหตุการณ์นี้จะยืดเยื้อไปนานเท่าใด นี่เป็นเหตุผลทางด้านจิตวิทยาครับและอีกเหตุผลหนึ่งเขาเองก็มองเห็นเหตุการณ์ที่ผู้บริโภคมีการแย่งกันซื้อหาหน้ากากอนามัยในเมียนมา จนกระทั่งเกิดการขึ้นราคาโดยไม่มีการควบคุม(ขณะที่ผมเขียนบทความอยู่ แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าควบคุมแล้วหรือยัง)

ทำให้ผู้ซื้อต่างต้องยอมรับสภาพ แพงก็ซื้อนั่นเอง อีกเหตุผลหนึ่งคือทางฝั่ง Supplyที่เริ่มขาดแคลนนั่นเอง เหตุผลนี้น่าจะมีน้ำหนักมากที่สุด ทำให้ราคาสินค้าไม่ยอมลดราคาลงตามอัตราแลกเปลี่ยน และสุดท้ายคือการลดราคาเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นนั้น พ่อค้าก็คือพ่อค้า ขณะที่เขาซื้อมานั้น อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า สินค้าเขาซื้อมาแพง แต่ถ้ามีการลดราคาลงตามอัตราแลกเปลี่ยนทันที เขาจะขาดทุนทันทีเช่นกัน

ดังนั้นพ่อค้าปลายทางเขาก็จะไม่ลดราคาลงทันทีหรอกครับ เขาอาจจะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า จนกว่าสินค้าในสต๊อกหมดนั่นแหละครับ ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นเหตุให้สวนกระแสดังกล่าวนั่นเอง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ทางสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพเมียนมาเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ออกมาเรียกร้องให้ทางรัฐบาลเมียนมา เร่งดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเขาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศหรือรายได้ประชาชาติ (GDP)ของประเทศเมียนมา จะต้องถอยกลับลงมาตั้งหลักกันใหม่อย่างแน่นอน

ดังนั้นหน่วยงานเอกชนนี้จึงรีบดำเนินการผลักดันรัฐบาลทันทีครับ ภาครัฐบาลเองเขาก็เร็วมากครับ เขารีบฉีดยาแรงทางเศรษฐกิจด้วย “นโยบายการเงิน” ทันทีเช่นกันครับ จะมามัวมะงึมมะหงาหลาไม่ได้แล้วครับ เขาสั่งการลงมาในวันที่ 7 มีนาคม ให้ธนาคารทั้งหมดลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทันที ด้วยการลดแรงมากถึง 0,5% ทั้งระบบ การใช้นโยบายการเงินนี้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาตร์ที่เห็นผลเร็วมาก ซึ่ง“นโยบายการคลัง” จะเห็นผลช้ากว่ามากครับ นี้คือความคล่องตัวทางด้านการเมืองที่เห็นได้ชัดเจนมาก ไม่เหมือนบางประเทศ ไม่ต้องมามัวผ่านสภาผุ้แทนราษฎร แล้วให้ฝ่ายค้านมาอภิปรายสามวันสามคืนทะเลาะกันอยู่นั่นแหละ “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้”กันพอดี

นาทีนี้ผมคิดว่าเป็นวิกฤตการณ์ที่เป็นเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้แล้ว เพราะหากไม่ทำอะไร รอให้เกิดเหตุการณ์หุ้นแดงทั้งกระดานก่อน ถึงจะนึกได้ช้าไปแล้วต๋อย เขาจึงรีบเร่งลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเลย แล้วคอยดูเถอะครับมาตรการต่างๆต้องมีทะยอยออกมาให้เห็นอีกอย่างแน่นอนครับ

ผมไม่อยากวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลไทยเราเลยครับ เพราะเห็นใจและเข้าใจท่านผู้บริหารประเทศดีว่าเวลานี้เป็นเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานจริงๆ ก็ได้แต่เอาใจช่วย และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เอาตัวอย่างประเทศอื่นๆที่เขาประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับภัยพิบัติครั้งนี้ นำมาใช้ที่ประเทศเราบ้าง ไม่ต้องอายใครครับ ถือว่าลอกเลียนแบบสิ่งดีๆนำมาใช้ เพื่อช่วยกันพยุงสถานการณ์ให้กลับมาสู่ปกติให้ได้ นี่ซิสำคัญที่สุด

ท่านจะได้ใจประชาชนทั้งประเทศเลยครับ