posttoday

ญี่ปุ่น อันเดียเข้ามาแย่งพื้นที่จีนในเมียนมา

14 มีนาคม 2563

ระยะนี้เมียนมา เกิดอาการเนื้อหอมเป็นอย่างยิ่งครับ หลังจากที่จีนได้ทุ่มทุนสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการเซ็นต์สัญญา MOU ไป 33 ฉบับเมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏว่าตามมาอีกไม่กี่วัน ญี่ปุ่นโดยเอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศเมียนมา Mr. Maruyama Ichiroก็เข้าไปเซ็นต์สัญญาปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เมียนมา

เพื่อนำไปพัฒนานครย่างกุ้งและรัฐอื่นๆ ตามที่ผมเคยเล่าให้ฟังตอนที่ผ่านๆมาแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่านประธานาธิบดี U Win Myint ได้นำทีมใหญ่ที่มีทั้งรัฐมนตรีหลากหลายกระทรวง เช่นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีศาสนาและวัฒนธรรม รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ฯลฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศอินเดียเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีและเซ็นต์สัญญาร่วมมือกันหลายๆทิศทาง

รวมทั้งมีการบันทึกช่วยจำหรือ MOU รวมทั้งหมด 15 ฉบับ ซึ่งทางประเทศอินเดียได้มีท่านประธานาธิบดี ราม นาท โกวินท์และท่านนายกรัฐมนตรีนะเรน ทะระ โมทีให้การต้อนรับ ซึ่งผมจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ปัจจุบันนี้อินเดียได้มีนโยบาย Act East และ Neighborhood First อยู่แล้ว อีกทั้งอินเดียมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาทั้งทางบกและทางทะเล ยาวประมาณ1600 กิโลเมตร ดังนั้นประเทศเมียนมาจึงได้รับวัฒนธรรมมาจากอินเดียเยอะมากไม่ว่าจะเป็นการนุ่งโสร่ง อาหารการกิน และความเป็นอยู่ เขารับมาเต็มๆเลยครับดังนั้นอินเดียจึงให้ความช่วยเหลือประเทศเมียนมามาโดยตลอด

ครั้งนี้จึงได้เซ็นต์สัญญาร่วมมือหลากหลายด้าน เช่น การพัฒนาด้านการป้องกันและความมั่นคงทางทะเล ความร่วมมือกันต่อสู้กับการก่อการร้ายและลัทธิหัวรุนแรงความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ปิโตเลียม การพัฒนาด้านการคมนาคมและการสื่อสารงานวิจัยด้านการสุขภาพระหว่างสภาวิจัยทางการแพทย์ของอินเดียกับกรมวิจัยทางการ

แพทย์ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาประเทศเมียนมา อีกทั้งความร่วมมือเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ ความร่วมมือในการค้าไม้และการอนุรักษ์คุ้มครองเสือและสัตว์ป่า เป็นต้น

งานนี้เมียนมามีแต่ได้ล้วนๆ ส่วนอินเดียเองก็มีตลาดเพิ่มอีกด้วย นี่เป็นความสำเร็จอย่างงดงามของทั้งสองประเทศครับ

ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวอิยะวดีได้ตีข่าวว่า กระทรวงก่อสร้างได้ประกาศว่า ทางประเทศญี่ปุ่นได้ลงนามให้ความร่วมมือและปล่อยเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำแก่รัฐบาลเมียนมา เพื่อนำมาสร้างทางด่วนสายใหม่ทั้งหมด 2 ช่วง

โดยสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) เป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เป็นเจ้าภาพในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งช่วงที่ 1ทางด่วนสายนี้เป็นการเชื่อมย่างกุ้งเริ่มจากนิคมอุตสาหกรรมติลาว่า ตรงไปยังเมืองพะโค ช่วงแรกนี้มีมูลค่าถึง 160 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

ส่วนช่วงที่ 2 เริ่มจากเมืองพะโค ไปยังเมืองไจ้โถ่ เมืองพะอาน สิ้นสุดที่เมืองเมาะละแมงหรือที่คนไทยเรียกว่าเมาะลำใยนั่นแหละครับ โครงการนี้มีมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาครับ

เส้นทางนี้สามารถเชื่อมต่อยังถนนสายแม่สอด-เมืองเมียวดี มายังเมืองพะอาน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกซึ่งมีชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด ที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีเป็นจุดหมายปลายทาง เส้นทางนี้นอกจากจะมีเมืองใหม่ชเวโก๊ะโก่ ที่นักธุรกิจจีนมาสร้างเมืองคาสิโนใว้ที่นี่

นอกจากนั้นยังเป็นเส้นทางที่ต่อไปยังอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนั่นเอง ดังนั้นประเทศไทยจะได้ประโยชน์เต็มที่ จากการส่งออกสินค้าเข้าเมียนมาของไทยเราครับเส้นทางนี้จะสร้างความเจริญและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับภาคตะวันตกของประเทศเมียนมาอย่างแน่นอนครับ

การสร้างถนนเส้นนี้ยังมีสะพานข้ามแม่น้ำสะโตง คนเมียนมาเรียกว่า “ชิตต่ง”ซึ่งจะทำให้การคมนาคมของฝั่งตะวันตกคล่องตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านๆมาแม่น้ำนี้ช่วงฤดูฝนของทุกปี ก็จะเกิดอุทกภัยทุกปี และสะพานจะขาดเกือบทุกปีเช่นกันอีกทั้งหากมีลมพายุเข้าก็จะเกิดดินถล่ม ในปีที่ผ่านมา ดินถล่มท่วมหมู่บ้านหายไปเกือบทั้งหมู่บ้าน เรียกว่าเป็นถนนมหาภัยก็ว่าได้

แต่ถ้าหากการก่อสร้างถนนแล้วเสร็จ ก็จะทำให้ชาวบ้านแถบนั้นมีความปลอดภัยจากอุทกภัยและวาตภัยยิ่งขึ้น การคมนาคมจากภาคใต้ขึ้นสู่นครย่างกุ้ง ก็จะสะดวกสบายมากขึ้น และคาดว่าร่นระยะเวลาการเดินทางไม่น้อยกว่าสี่ห้าชั่วโมงเลยครับ

นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับชาวภาคใต้ของประเทศเมียนมาเลยครับ จะเห็นว่าอิทธิพลของการมาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้นมีผลต่อการแข่งขันของตลาดเมียนมาอย่างชัดเจนเพราะเริ่มมีประเทศญี่ปุ่นและอินเดียเข้ามาแข่งขันแล้ว

ต่างก็เป็นเจ้าบุญทุ่มด้วยกันทั้งนั้น ผมคิดว่าอีกไม่นานเกินรอ คงได้เห็นประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ต้องกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์แน่นอน แต่พี่ไทยเรายังเฉยๆอยู่

ผมยังไม่เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลของเราเข้าไปเยี่ยมเยือนอย่างเป็นทางการเลยเราอย่าชะล่ามากนะครับ ถ้าหากประเทศที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมา หรือฝรั่งมังค่าเข้ามา

เมื่อนั้นเราจะขยับตัวคงต้องใช้เงินเยอะกว่าปัจจุบันก็ได้ เพราะถึงตอนนั้น โปรเจ็คเล็กๆก็ไม่เตะตารัฐบาลเมียนมาอย่างแน่นอนต้องใหญ่พอที่จะดึงดูดใจถึงจะมีผลนะครับ