posttoday

การพัฒนารถไฟในเมียนมา

02 มีนาคม 2563

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากการมาเยือนเมียนมาของท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ได้มีการเซ็นสัญญาบันทึกช่วยจำไปทั้งหมด 33 ฉบับ ก็ได้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาทันทีครับ คือท่านผู้ว่าการการรถไฟเมียนมาได้มีการเซ็นสัญญาเงินกู้กับทางธนาคารแห่งประเทศจีนขึ้นมาทันทีครับ

โดยการกู้เงินครั้งนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำระยะยาว เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการเดินรถของรถไฟเมียนมา และเพื่อนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของการรถไฟเมียนมาด้วยนั่นเองครับ

จะว่าไปแล้วรถไฟเมียนมา ก็มีประวัติยาวนานไม่แพ้ไทยเราเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อังกฤษเข้ามายึดครองเมียนมา ถือว่าเป็นการพัฒนารถไฟเมียนมาครั้งสำคัญที่สุด มีการสร้างทางรถไฟในประเทศเมียนมามากที่สุด พอสงครามโลกอุบัติขึ้น ในยุคนั้นญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในประเทศเมียนมาค่อนข้างจะมาก การรถไฟเมียนมาก็ได้มีการปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาอีกครั้ง

แต่อนิจจา....70 ปีต่อมาหลังจากที่มีการส่งมอบอิสรภาพให้แก่เมียนมาแล้ว การรถไฟเมียนมาก็หยุดนิ่งอยู่กับที่มายาวนานครับ หัวรถจักรก็ไม่มีการพัฒนาอีกเลย โบกี้ในอดีตเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย จนกระทั่งต่อมาในยุคปี 1988 ก็ได้มีการเริ่มพัฒนาบ้าง ด้วยการสร้างทางรถไฟขึ้นมาเพิ่มเติม

โดยเพิ่มความยาวจาก 4,903 กิโลเมตรเป็นเกือบ 10,403 กิโลเมตร จนกระทั้งถึงปัจจุบันนี้ ได้มีการสร้างทางรถไฟมีความยาวเพิ่มเป็น 11,025 กิโลเมตร และมีสถานีรถไฟที่เปิดใช้งานแล้วมากถึง 1,225 สถานี อาจจะกล่าวได้ว่า ในภาคพื้นตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย เมียนมามีรถไฟใช้มากเป็นอันดับสองก็ว่าได้ครับ

แม้จะมีการทางรถไฟที่มากและระยะทางที่ยาว แต่การพัฒนาของรถไฟในเมียนมาก็ยังล้าหลังอยู่ดี เหตุผลเพราะรถไฟที่ใช้อยู่ เป็นรถไฟที่ค่อนข้างจะเก่าและล้าสมัยมากๆ โบกี้รถไฟ เบาะนั่งรถไฟ ก็ยังคงเป็นเรื่องของสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเกือบทั้งหมดครับ อีกประการหนึ่งรถในยุคดังกล่าวและรางรถไฟยังคงใช้รางขนาดความกว้างที่เล็กมาก ทำให้รถไฟวิ่งได้ช้ามาก รถที่เป็นรถไฟบรรทุกผู้โดยสาร วิ่งได้ความเร็วเพียง 15 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือประมาณ 24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ส่วนรถไฟที่ใช้บรรทุกสินค้า วิ่งได้เพียง 7.5-8.7 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือ 12-14 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนเองก็ไม่ค่อยจะมีทางเลือกอื่นเหมือนอย่างประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ที่เขายังพอมีทางรถยนต์มาแบ่งเบาภาระของประชาชน เพราะในอดีตที่ประเทศเมียนมาการคมนาคมเขาใช้รถไฟกับเรือเป็นหลักครับ

เรามาดูว่าที่เมียนมาที่เขามีทางรถไฟไปถึงทั่วทุกภาคเกิดจากการวางรากฐานของรถไฟเมียนมาใว้เป็นอย่างดี เพราะที่เล่าใว้ข้างต้นว่า เขามีความยาวของทางรถไฟถึง 11,025 กิโลเมตร มีสถานีมากถึง 1,225 สถานี ซึ่งมีมากกว่าประเทศไทยแน่ๆ

ซึ่งการแบ่งภาคของรถไฟในประเทศเมียนมา เขาแบ่ง Upper Myanmar ซึ่งจะรวมเอาตั้งแต่เมืองพะโคเป็นต้นไป Lower Myanmar หมายถึงเมืองที่อยู่ล่างลงมาจากเมืองย่างกุ้ง และ Urban Yangon City หมายถึงรถไฟที่ใช้วิ่งรอบเมืองย่างกุ้งอยู่ในขณะนี้ ผมจะขออนุญาตเล่าให้ฟังพอสังเขปนะครับ

Upper Myanmar นั้นมีอยู่สองส่วนคือฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันตกเป็นเส้นทางที่สามารถไปถึงชายแดนอินเดียและบังคลาเทศได้ ส่วนเส้นทางตะวันออกเป็นเส้นที่เชื่อมต่อไปสู่ประเทศจีนฝั่งมณฑลยูนนาน ซึ่งเส้นทางนี้มีความสำคัญมาก ก็คือเส้นมัณฑะเลย์-ลาซิว ที่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงให้ความสำคัญถึงขั้นใน MOU 33 ฉบับนั้นมีอยู่หนึ่งฉบับที่เกี่ยวเนื่องกับเส้นทางนี้อยู่ครับ

ส่วนด้าน Lower Myanmar ก็มีเส้นทางด้านย่างกุ้งผ่านลงไปทางภาคใต้ ที่ไปแยกกันที่ชุมทางพะโค ลงไปทางเมืองเมาะละแหม่ง แล้วลงไปถึงเมืองทวาย ซึ่งกำลังก่อสร้างต่อไปถึงมะลิดและอนาคตจะมีต่อไปถึงเกาะสองแน่เลยครับ ที่น่าจับตามองมากที่สุดคือที่ Urban Yangon City เพราะที่นี่เป็นหัวใจของประเทศเมียนมา แน่นอนจีนเขาไม่ปล่อยให้หลุดมือไปได้แน่

จะเห็นจากสัญญา MOU ฉบับที่ 26 กับฉบับที่ 30 ก็มีส่วนเกาะเกี่ยวกันอยู่ เขาจะใช้โอกาสนี้พัฒนาสถานีรถไฟที่มีอยู่เดิม 38 สถานีรวมกับสถานีกลางนครย่างกุ้งหรือ Yangon Central Station อีกหนึ่งสถานี ซึ่งจะทำให้เมืองย่างกุ้งเจริญขึ้นผิดหูผิดตาอย่างมากภายในปี 2020 ก็จะเริ่มต้นลงมือ แล้วเสร็จภายในปี 2027 นั่นหมายความว่านครย่างกุ้งจะมีรถไฟภายในเมืองใช้อย่างสะดวกสบาย จะทำให้ประชาชนที่ปัจจุบันนี้ได้ใช้รถไฟสายนี้เดินทางไปทำงานในเมืองกันอยู่แล้ววันละประมาณ 150,000 คน จะเพิ่มขึ้นมาอีกหลายเท่าตัวเลยครับ

พอจะสรุปได้ว่างานนี้เมียนมา เขาเป็นงานครับ พอท่านประธานาธิบดีจีนมาเยี่ยมเยือน และตกปากรับคำว่าจะช่วยเหลือ ด้วยการเซ็นต์ MOU เสร็จไม่เท่าไหร่ เขาก็เริ่มกระตือรือล้นที่เขาไปดำเนินการกู้เงิน(ที่ใกล้เค่ยงกับการได้เปล่า) มาใช้ทันที ไมม่ต้องมัวแค่ตั้งถ้าใหว้ครูให้เสียเวลาเลย

เขาจัดการส่งผู้ว่าการรถไฟ U Than Tun Aung เข้าไปเซ็นสัญญากู้ยืมเงินมาใช้พัฒนาการรถไฟเบื้องต้นรวม 94.5 ล้านเหรียญสหรัฐก่อนเลย

ต่อไปคงจะได้ยินข่าวเพิ่มเติมอีกแน่นอนครับ