posttoday

แนวคิดการรวมกลุ่มบุกตลาด

22 กุมภาพันธ์ 2563

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปสำรวจดูนิคมอุตสาหกรรมติลาว่า ซึ่งปกติระยะหลังๆมานี้ ผมจะเข้าไปเกือบทุกเดือน เพราะถ้ามีเวลาว่างจากการทำงาน ผมก็ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องของชาวบ้านเขา จึงต้องเข้าไปดูว่าเขาทำไปถึงไหน คืบหน้าไปอย่างไรสำหรับการลงทุนของเขา

ที่สำคัญอยากเห็นว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นในเมียนมาบ้าง การไปครั้งนี้ผมได้ชวนเพื่อนชาวไต้หวันที่เป็นเพื่อนสมัยเรียนหนังสือที่ไทเปไปดูด้วยกัน

สิ่งหนึ่งที่เห็นแปลกตาคือในนิคมอุตสาหกรรม มีโรงงานจากไต้หวันเข้ามาร่วมด้วยครับ

ชาวต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจที่เมียนมานั้น มีหลากหลายมาก ที่เห็นได้ชัดในระยะนี้ คือกลุ่มทุนจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันเป็นส่วนใหญ่ที่มาจากเกาหลีใต้นั้น ผมจนปัญญาที่จะสัมภาษณ์เขาจริงๆเพราะคนที่ผมพยายามเข้าไปพูดคุยด้วย เขาพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ค่อยดีนัก พอถามเหนือพี่แกตอบได้เลยเลิกคุยต่อเลย จบข่าว

..........ส่วนที่พอจะสนทนาต้าอ่วยกันเข้าใจลึกซึ้งก็เป็นจีน ไต้หวันนี่แหละครับ ญี่ปุ่นก็พอจะคุยกันได้ระดับหนึ่ง พอถามไถ่สาระทุกข์สุขดิบได้ แต่จะลึกๆจริงๆผมก็ไม่ถึงจริงๆครับ เอาเป็นว่าผมจะนำเอาที่พอจะเข้าใจมาเล่าสู่กันฟังนะครับว่าเขาคิดกันอย่างไรเพื่อจะได้เป็นกรณีศึกษาให้เรานำมาใช้ได้บ้างครับ

คนจีนที่เข้ามาสู่เมียนมานั้น ส่วนใหญ่จะมากับบริษัทของรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ ที่เขาเข้ามามักจะมีนโยบายรัฐบาลหนุนหลังเขาอยู่ โดยได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐฯของประเทศจีน เพราะว่าปัจจุบันนี้จีนพยายามบุกลงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเส้นทาง One Belt One Road ที่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้มุ่งเน้นอยู่

อีกประการหนึ่งปลายทางเส้นทางสายนี้จะอยู่ที่เมียนมา โดยทางออกทะเลของเขา อยู่ที่เมืองเจ้าผิ่ว รัฐยะไข่ ผมเคยเล่ามาหลายหนแล้วครับ ว่าที่นี่มีทั้งท่าเรือน้ำลึก ท่อขนส่งก๊าสธรรมชาติ ท่อส่งน้ำมัน ที่ส่งตรงไปที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน อีกทั้งเขาได้วางรากฐานใว้ลึกมาก ลึกกว่าท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่เราคาดหวังมานานมากเลยครับ และหลังจากที่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เข้าไปเยือนเมื่อวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา ทุกอย่างยิ่งชัดเจนขึ้นมาก

โครงการต่างๆได้ผุดขึ้นเป็นว่าเล่นครับ และกำลังจะตามมาอีกเพียบ....ส่วนบริษัทที่เป็นภาคเอกชน เขาเข้ามาค่อนข้างลำบาก เพราะว่าปัจจุบันนี้รัฐบาลจีนใช้นโยบายควบคุมเงินตราต่างประเทศเข้มข้นมากๆทำให้การนำเงินออกมาลงทุนนอกประเทศถูกตรวจสอบมากๆ ไม่สะดวกที่จะออกมาโกอินเตอร์ได้ง่ายเหมือนเมื่อสามสี่ปีก่อนครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเขามาเขาก็จะเกาะกลุ่มกันมาเป็นขบวนครับ เขาไม่มาเดี่ยวเด็ดขาดครับ ส่วนไต้หวันนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรงจากไต้หวันครับ เท่าที่สังเกตุดูจะเป็นการย้ายฐานมาจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่น้อยมากจริงๆที่มาจากไต้หวันตรงๆ เพราะเหตุผลของความไม่สะดวกด้านการเงินที่ถูกควบคุมจากประเทศจีน ทำให้เขาอึดอัดใจมาก ที่ไม่สามารถผ่านได้ง่ายๆเหมือนเมื่อก่อนหน้านี้อีกอย่างที่ทำให้โรงงานที่เป็นผู้ประกอบการใต้หวันในประเทศจีน

โดยส่วนตัวผมเคยไปร่วมเดินทางกับสมาคมนักลงทุนใต้หวันในประเทศจีน ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศจีนสามสี่หมื่นราย ได้รับการเชื้อเชิญจากรัฐบาลท้องถิ่นของหมางซื่อ มณฑลยูนนาน ให้ไปดูงานด้านการลงทุนที่ชายแดนจีน-เมียนมา (เมืองมู่เจ-เมืองยุ้ยลี่)

ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ประกอบการไต้หวันในประเทศจีนไปกันเกือบแปดสิบราย ผมก็ตีเนียนไปกับเขา เพราะเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นในไต้หวันของผม เป็นนายกสมาคมอยู่ จึงไปกับเขาเนียนๆครับ

สิ่งที่ได้พบเห็นคือทางการจีนเขาพยายามจะชักจูงให้ไปลงทุนที่ชายแดนจีน แต่ผู้ประกอบการเขาคิดเร็วกว่านั้นครับ เขากระโดดเข้าไปที่ย่างกุ้งเองเลย ไม่ต้องไปเกาะอยู่ที่ขอบชายแดนให้เสียเวลาเลยครับ เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ เขาเป็นนักสู้ผู้กล้าตัวจริงเสียงจริงทั้งนั้นครับ

อีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือผู้ประกอบการเหล่านี้ เขาจะจับกลุ่มกันเป็นกลุ่มเนื้อเดียวกันจริงๆ เข้าจะมากันเป็นสมาคมเลย เช่น สมาคมผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้า สมาคมโคมไฟตั้งโต๊ะ สมาคมค้าไม้ สมาคมเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เข้าจะรวมตัวกันมา เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการและนายกสมาคมไฟตั้งโต๊ะ

ผมพาเขามาเที่ยวที่นิคมอุตสาหกรรมติลาว่า เมืองย่างกุ้ง พอมาถึงเขาก็โทรไปหาเพื่อนร่วมอาชีพ แล้วชวนผมไปชมโรงงานของเพื่อนเขา เพื่อนเขาพาเข้าไปดูรายละเอียดของโรงงานทั้งหมดเลย เล่าให้ฟังถึงจุดอ่อน-จุดแข็งต่างๆ เครื่องจักรเจ้านี้ดี เจ้านี่ไม่ได้เรื่อง ข้อควรระวังมีอะไรบ้าง เล่าให้ฟังจนหมดเปลือกโดยไม่มีปิดบังเลย ดูเขาไม่ได้กลัวความลับทางธุรกิจจะรั่วไหล ทั้งๆที่เพื่อนผมทำอาชีพเดียวกับเขาแท้ๆ

ไม่เหมือนนักธุรกิจบางประเทศ อย่าว่าแต่เล่าเลยครับ ขอเข้าไปดูยังยาก....มัวแต่กลัวคนอื่นจะเลียนแบบ หรือกลัวคู่แข่งจะรู้ความลับเสียนี่ แล้วเราจะไปสู้เขาอย่างไร!!!!!

ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นเท่าที่ไปพูดคุยมา ก็พอจะเห็นได้ว่า เขามากันเป็นกลุ่มเป็นก้อนจริงๆครับ โดยก่อนจะมาทางรัฐบาลเขาว่าจ้างบริษัทรีเสริชมาทำการสำรวจให้เสร็จสรรพเลย แล้วจึงนำเอาสิ่งที่ได้มาไปแนะนำผู้ประกอบการของเขา

จากนั้นจะชวนกันมาทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ โดยไม่หวังพึ่งการหวังน้ำบ่อหน้าเลยครับ เขาต้องการใช้อะไร เขาก็เชิญชวนผู้ประกอบการนั้นๆมาตั้งโรงงานป้อนกันเองเลย ไม่ต้องไปหาเอาข้างหน้าเหมือนเรา เห็นแล้วอิจฉาเลยครับ

ไม่เหมือนเพื่อนผมที่มาตั้งโรงงานทอผ้า-พิมพ์ผ้า ทำมายี่สิบกว่าปี ทุกอย่างต้องช่วยตัวเองหมด แถมเวลาขนเอาสินค้าวัตถุดิบบ้างตัวที่ต้องใช้ในโรงงานติดตัวมา ยังต้องหลบๆซ่อนๆเลยครับ.....เฮ้อ