posttoday

วิเคราะห์ MOU เมียนมาจีน (จบ)

08 กุมภาพันธ์ 2563

ผมเอาสัญญาบันทึกช่วยจำหรือ MOU ของประเทศเมียนมาที่ทำกับประเทศจีน มาวิเคราะห์คร่าวๆ พอเป็นสังเขป ให้เพื่อนๆแฟนคลับอ่านเล่น และคิดตาม จะได้เห็นลึกเข้าไปภายใน ซึ่งผ่านมาแล้วสามตอน ก็ยังไม่จบ เพราะเนื้อหาทั้ง 33 ฉบับนั้นเยอะมาก

ผมเอาสัญญาบันทึกช่วยจำหรือ MOU ของประเทศเมียนมาที่ทำกับประเทศจีน มาวิเคราะห์คร่าวๆ พอเป็นสังเขป ให้เพื่อนๆแฟนคลับอ่านเล่น และคิดตาม จะได้เห็นลึกเข้าไปภายใน ซึ่งผ่านมาแล้วสามตอน ก็ยังไม่จบ เพราะเนื้อหาทั้ง 33 ฉบับนั้นเยอะมาก

ผมแค่นำเอาสาระสำคัญที่เพื่อนๆชาวจีนได้ย่อใว้แล้วส่งตามวีเชทมาวิเคราะห์เท่านั้น ต้องบอกว่าเนื้อหารายละเอียดจริงๆเป็นหน้าตาอย่างไร ผมยังไม่ได้เห็น เห็นแต่เขาย่อๆมาให้เท่านั้นครับ แต่อย่างไรก็ตามพอจะเชื่อได้ว่าน่าจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากนี้เท่าไหร่หรอกครับ

วันนี้ขอต่อเพื่อให้จบสมบูรณ์ทั้ง 33 ฉบับนะครับ ครั้งที่ผ่านมาพูดถึงฉบับที่ 26 วันนี้ขอต่อด้วยฉบับที่ 27 นะครับ เนื้อหาคือความร่วมมือระหว่างรัฐมัณฑะเลย์กับมณฑลยูนนาน จะร่วมกันสร้างระเบียงเศรษฐกิจหรือที่เรียกให้สวยๆก็คือ Economic Corridor ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าคนจีนในเมืองมัณฑะเลย์นั้น ร้อยละแปดสิบเป็นชาวเมียนมาเชื้อสายจีนยูนนาน ที่สามารถพูดและอ่านเขียนภาษาจีนได้อย่างดีครับ

เมื่อมีระเบียงเศรษฐกิจเกิดขึ้น แน่นอนว่าการค้าการลงทุนจะต้องตามมาอย่างรวดเร็ว ข้อนี้ต่างคนต่างได้ครับ เมียนมาได้การลงทุนจากต่างประเทศ ได้การจ้างงาน ได้ภาษีกากร ได้รายได้ประชาชาติ ส่วนจีนก็ได้จากการลงทุนได้จากการค้าที่ปัจจุบันนี้เกินดุลจีนอยู่เป็นกระบุงเกวียนครับ

สัญญาฉบับที่ 28 เป็นเรื่องความร่วมมือด้านการกีฬาที่จีนจะช่วยพัฒนาฟุตบอลของเมียนมา อันนี้ไม่มีอะไรเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเท่านั้นเอง เรามาดูต่อที่สัญญาฉบับที่ 29

เนื้อหาคือจีนจะช่วยเหลือการสร้างสะพานคุนหลง Kunlong Bridge Project แน่นอนว่าสะพานนี้เมื่อสร้างเสร็จ จะช่วยส่งเสริมการค้า เรื่องของโลจิสติกส์ อย่างเป็นรูปธรรมครับ มาดูกันต่อที่ฉบับที่ 30เป็นเรื่องข้อตกลงร่วมมือกันทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างตลิ่งด้านตะวันตก

ของปากน้ำแม่น้ำย่างกุ้ง ถามว่าที่ด้านตะวันตกของปากน้ำแม่น้ำย่างกุ้งมีอะไร ท่านที่เคยไปหรืออยู่ที่เมียนมา จะทราบว่า ด้านตะวันออกของปากน้ำ เป็นฝั่งนิคมอุตสาหกรรมติลาว่า ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นเขตเมืองใหม่ย่างกุ้ง หรือเขตดาล่าไงครับ ซึ่งเมืองใหม่ย่างกุ้งหรือ Yangon New City Project ทางจีนเอาไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นเขาจึงต้องทำต่อเนื่องไงครับ พอจะมองเห็นภาพแล้วใช่มั้ยครับ ฉบับต่อมาฉบับที่ 31 ข้อตกลงในการสร้างทางรถไฟ มัณฑะเลย์-ปะกัน อันนี้ฉลาดมาก เพราะเมืองปะกัน หรือ พุกาม เป็นเมืองมรดกโลกมีเจดีย์สามพันแปดร้อยกว่าองค์ เรียกว่าทะเลเจดีย์ก็ว่าได้

หากจีนลงทุนสร้างทางรถไฟไปถึง เชื่อว่าเมียนมาจะคงไม่อยู่นิ่งเฉยครับ เพราะนิสัยคนเมียนมานั้น หากได้รับอะไรจากใคร มักจะต้องมีการตอบแทนกลับมาครับ

ดังนั้นการลงทุนครั้งนี้ถือว่าชาญฉลาดมากๆครับ ไม่เหมือนเพื่อนบ้านบางประเทศไปช่วยในรัฐที่แม้แต่นกก็ยังไม่ยอมไปวางไข่เลย รัฐที่อุดมสมบูรณ์หรือที่น่าเก็บเกี่ยวก็ไม่ไป

เฮ้อ.....ต่อครับต่อ ฉบับที่ 32 ความร่วมมือด้านพลังงาน โดยการกระตุ้นให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแก๊สธรรมชาติ (LNG) Meel lln Gyaing ซึ่งจีนกำลังบุกเรื่องพลังงานเยอะมาก ทั้งเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขารุกหนักมาก

คราวนี้รุกไปที่โรงไฟฟ้าพลังแก๊สธรรมชาติ ผมเชื่อว่าโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์และพลังลมคงจะมีให้เห็นเร็วๆนี้แน่ๆ เพราะจีนเป็นเจ้าแห่งโซลาร์เซลล์อยู่แล้วครับ ฉบับสุดท้ายฉบับที่ 33 เนื้อหาคือข้อตกลงสร้างอุโมงทางรถยนต์ที่ Wata Lone อันนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อน เพราะน่าจะเป็นการเอาอันนี้มาปิดท้ายเพื่อให้ดูดีนั่นเองครับ

เห็นมั้ยครับว่าการมาเยือนของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร จีนเขาทำอะไรออกจะดูเหมือน "ป๋า" หน่อย คือ ยอมเปย์เต็มที่ แน่นอนเขาไม่ได้โง่ การจ่ายออกก็ต้องมีการรับเข้าแต่เขาจะรับเข้าอย่างไรให้ดูไม่น่าเกียจ อีกอย่างจีนเขามีเงินหนา เจ้าบุญทุ่ม และเห็นความสำคัญงานนี้มาก ขนาดว่าในเวลาเดียวกัน มีการเซ็นต์สัญญาสงบศึกการค้ากับสหรัฐอเมริกา เขายังให้รองนายกรัฐมนตรีหลิวเฮอไปแทน ตัวของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเอง กลับบินมาที่เมียนมา

นี่แหละครับ อยากให้ท่านลองไปอ่านทบทวนที่ผมวิเคราะห์มาตั้งแต่ฉบับแรก เมื่อสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านจะเห็นว่าคนจีนก็คือคนจีน จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นลูกหลานจีน......