posttoday

วิเคราะห์ MOU เมียนมา-จีน (2)

01 กุมภาพันธ์ 2563

อาทิตย์ที่ผ่านมาได้วิเคราะห์ MOU ที่รัฐบาลเมียนมาได้ลงนามร่วมกับรัฐบาลจีน โดยอาศัยจังหวะที่ท่านประธานาธิบดี สี เจี้ยนผิง มาเยือนประเทศเมียนมา ในช่วงวันที่ 17-18 มกราคมนี้ ซึ่งการเซ็นต์ไปทั้งหมด 33 ฉบับ

อาทิตย์ที่ผ่านมาได้วิเคราะห์ MOU ที่รัฐบาลเมียนมาได้ลงนามร่วมกับรัฐบาลจีน โดยอาศัยจังหวะที่ท่านประธานาธิบดี สี เจี้ยนผิง มาเยือนประเทศเมียนมา ในช่วงวันที่ 17-18 มกราคมนี้ ซึ่งการเซ็นต์ไปทั้งหมด 33 ฉบับ ทำให้คิดว่าจะต้องส่งผลต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุกๆด้านต้องเกิดขึ้นในเมียนมาอย่างแน่นอน

และครั้งที่แล้วผมหยิบยกเอามาเล่ากันได้เพียงไม่กี่ฉบับ เพื่อให้ได้รู้เขารู้เรามากขึ้น

วันนี้ผมขออนุญาตเล่าต่อนะครับ เรามาต่อที่ MOU ฉบับที่ 15 นะครับ เนื้อหาสาระอยู่ที่การร่วมมือกันระหว่างพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของประเทศจีนกับกระทรวงการคลังและการวางแผนแห่งชาติของประเทศเมียนมาจะผลักดันให้เกิดการลงทุนและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

พูดแบบภาษาบ้านๆก็คือจะเร่งให้มีการลงทุนในเมียนมามากขึ้นนั่นแหละครับ ก็หมายความว่าจีนจะต้องช่วยเหลือด้านที่มาของแหล่งทุนให้เมียนมานั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ทางรัฐบาลเมียนมาก็เบาตัวไปเลยครับ ต่อด้วยฉบับที่ 16 ซึ่งจะรับผลส่งต่อเนื่องมาจากฉบับที่ 15

ด้วยการส่งเสริมการให้เงินกู้ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเมียนมา และฉบับที่ 17 เป็นเรื่องของความร่วมมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อมีการลงทุนด้านต่างๆ

แน่นอนว่าความต้องการทรัพยากรมนุษย์หรือแรงงานฝีมือก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี และจะต้องเป็นแรงงานภายในประเทศเท่านั้น จึงจะเหมาะสมกับการดำเนินงาน จะเห็นว่าแต่ละฉบับของ MOU เขาล้วนแต่คิดการณ์ใว้ล่วงหน้าหมด เขาฉลาดมากๆ

มาดูต่อที่MOU ฉบับที่ 18 เป็นความร่วมมือกันที่จะจัดการกับปัญหาคนพลัดถิ่นที่เกิดขึ้นในรัฐกระฉิ่นด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน เรื่องนี้ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ผมคิดว่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาช้านาน ตั้งแต่ยุคสงครามเอเชียบูรพา ที่ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดเมียนมาญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะบุกเข้าไปในประเทศจีนในยุคนั้น

โดยทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งบุกทางฝั่งตะวันออก และส่วนหนึ่งบุกเข้ามาทางฝั่งไทยและเมียนมา เพื่อเดินทัพขึ้นไปทางภาคเหนือเข้าสู่รัฐกระฉิ่น แล้วบุกเข้าทางฝั่งเมืองเถิ่นชง ซึ่งอยู่ตอนเหนือของมนฑลยูนนานของประเทศจีน เพื่อเข้าไปยึดครองประเทศจีนด้วยการไปบรรจบกับทหารญี่ปุ่นที่มาจากด้านตะวันออกนั่นเอง

ทางการจีนในยุคนั้นก็ส่งทหารหาญเดินทัพมาทางเมืองเถิ่นชงเข้ามาต่อต้านทหารญี่ปุ่น จึงเกิดการหายสาบสูญไปของเหล่าทหารหาญจีน ต่อมาก็ได้มีครอบครัวกับชนชาติพันธ์ของรัฐกระฉิ่นสืบทอดกันมาถึงยุคนี้น่าจะเป็นรุ่นที่สามรุ่นที่สี่แล้วกระมัง

แต่ทางการจีนยังคงเสาะแสวงหาพวกเขาเหล่านั้นอยู่ จึงได้เกิดให้มี MOU ฉบับนี้ขึ้นครับ

สำหรับฉบับที่ 19 ก็เป็นเรื่องท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิ่ว รัฐยะไข่ ที่ทางจีนเข้าไปดำเนินการอยู่ MOUฉบับนี้จึงได้มีการบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าจะร่วมมือกันพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิ่วให้เป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษขึ้นมา ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิ่ว เมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน

ทางการจีนเล็งเห็นว่าที่นี่มีที่ตั้งอยู่ที่รัฐยะไข่ ที่อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย จึงได้ไปขอลงทุนที่นี่ และทำการขุดเอาแก๊สธรรมชาติที่นี่ แล้วทำท่อส่งตรงไปยังเมืองคุนหมิง โดยผ่านมาทางรัฐมะไกว เข้าสู่เมืองมัณฑะเลย์ ตรงไปทางเมืองสีป้อ หนองโชว เมืองลาซิล เข้าสู่เมืองมูเจ ทะลุเข้าสู่จีนที่เมืองยุ่ยลี่ แล้วตรงเข้าสู่คุนหมิง

ต่อมาทางการจีนเห็นว่าที่นี่ที่ลงทุนไปได้ผลดีเยี่ยม จึงทำท่อส่งน้ำมันเพิ่ม เมื่อฝั่งตะวันตกของจีน ไม่มีทางออกทะเลได้ ก็ต้องอาศัยจุดนี้แหละเป็นจุดออกสู่ทะเลทางมหาสมุทรอินเดีย จึงมี MOUฉบับนี้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของ One Belt One Road นั่นเอง

ดังนั้นหากจะวิเคราะห์ลึกๆ ผมคิดว่าMOUฉบับนี้ นี่คือหนึ่งในหลายๆหัวใจของการมาเยือนประเทศเมียนมาครั้งนี้ของประธานาธิบดี สี เจี้ยน ผิง เพราะหากการพัฒนาจุดนี้สำเร็จ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือจีน เพราะต่อไปเรือบรรทุกน้ำมันจากตะวันออกกลาง ไม่ต้องอ้อมลงไปทางสิงคโปร์อีกต่อไป เพราะไปทางสิงคโปร์แล้วเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แล้วขึ้นบกที่ท่าเรือฝั่งตะวันออกก่อนจะส่งต่อมาทางฝั่งตะวันตกของจีน พอดีเหงือกแห้งกันไปเลย

คราวนี้ถ้าทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว น้ำมันจะต้องมาลงที่ท่าเรือเจ้าผิ่วนี่แหละ แล้วใช้ท่อส่งน้ำมันผ่านเข้าสู่จีนตะวันตกได้เลย ทุ่นทั้งค่าใช้จ่าย ทุ่นทั้งเวลา เห็นมั้ยละครับ ว่าจีนหัวใสขนาดไหน มาดูทางฝั่งเมียนมาบ้าง เมียนมาจะได้อะไร การจ้างงานจะได้น้อยมากนอกจากนั้นก็จะเป็นภาษีที่เก็บได้เท่านั้น

แต่หากพลาดท่าจีนในข้อตกลงเรื่องภาษีศุลกากรละก็คงจะคุ้มค่าหรือเปล่าก็ไม่รู้ละคราวนี้ผลเสียที่จะต้องคำนึงถึงคือสภาพสิ่งแวดล้อมที่หากไม่มีการระมัดระวัง หรือกระทำด้วยความประมาทเลิ่นเล่อแล้วละก็ อาจจะได้ไม้คุ้มเสียแน่นอนครับ

อาทิตย์หน้าเรามาต่ออีกอาทิตย์นะครับ อาทิตย์นี้หน้ากระดาษหมดแล้วครับ