posttoday

การรับมือการเปลี่ยนแปลงของชายแดนระนอง (3)

13 มกราคม 2563

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

การรับมือการเปลี่ยนแปลงของชายแดน หลังจากที่ระบบโลจิสติกที่กำลังจะเปลี่ยนไป ตามที่ผมคาดการใว้เมื่อสองบทความต่อเนื่องที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงจริงตามที่คาดการณ์ใว้ ผมคิดว่าจังหวัดระนองจะเป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดครับ

แต่อยู่ที่ข้อสมมุติฐานของผมสอดคล้องกับการพัฒนาในประเทศเมียนมา ฝั่งรัฐตะนาวศรีหรือตะเหน่งดายี่เป็นจริงขึ้นมาหรือไม่เพื่อนๆทั้งหลายอย่าเพิ่งตกอกตกใจนะครับ อาจจะจริงหรืออาจจะไม่จริงก็ได้

เพราะมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ มักจะเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าเสมอ จึงมีคำพูดว่า "Assumption" หรือ ข้อสมมุติฐานซึ่งการสันนิษฐานก็เหมือนการเดาอนาคตเท่านั้นแหละครับ ท่านจะเชื่อหรือไม่? จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? ต้องบอกว่าอ่านสนุกๆก็แล้วกันนะครับ

มาดูว่าผมคาดการณ์ ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สมมุติว่าถนนหนทางจากเมืองมะริด (Myeik) ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ดีขึ้นมากแล้ว เพราะอดีตการเดินทางลำบากมาก

เพราะนอกจากจะต้องข้ามเทือกเขาตะนาวศรีแล้ว ยังต้องข้ามแม่น้ำซึ่งไม่มีสะพานที่มั่นคง บางตอนต้องข้ามแพอีกด้วย

การเดินทางต้องใช้เวลานานถึง 8-10 ชั่วโมง รถบรรทุกใหญ่ก็หมดสิทธิ์ที่จะใช้ได้ ในขณะที่ผู้คนเองก็ไม่คุ้นเคยกับการเดินทางด้วยรถยนต์ จึงหันไปใช้การเดินทางทางเรือ ซึ่งจะต้องมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนองทั้งหมด

โดยเรือก็จะมีทั้งเรือโดยสาร เรือยนต์เล็ก และเรือเดินสมุทรใหญ่ๆ ระวางตั้งแต่ 500 ตันจนถึง 5,000 ตัน โดยการขนส่งสินค้าก็เช่นเดียว การขนส่งสินค้านั้นในอดีต

เรือเดินสมุทรปีหนึ่งๆจะมีประมาณสามสี่เดือนที่เจอฤดูมรสุม ซึ่งก็จะไม่สามารถเดินทางได้สะดวก และการมาของเรือมักจะจอดทอดสมอเรือที่ฝั่งเกาะสองของเมียนมา ฝั่งตรงข้ามเมืองระนอง
และการส่งออกสินค้าก็จะมีการมาตั้งโกดังที่ข้างท่าเรือใกล้ๆกับด่านศุลกากร

ถ้าเป็นสินค้าอุปโภค-บริโภค จากนั้นก็จะใช้เรือหางยาว ทะยอยขนถ่ายสินค้าไปขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะสอง การดำเนินพิธีการส่งออก ก็จะตรวจปล่อยสินค้ากันที่ด่านท่าเรือระนอง การนำเข้าสินค้าก็จะดำเนินการที่ด่านเกาะสองของเมียนมา จนกระทั้งสัก 5-6 ปีก่อน

จึงได้มีการสร้างท่าเรือใหญ่ขึ้นที่แถบหมู่บ้านหินช้าง เขานางหงษ์ ซึ่งจะมีท่าเรืออยู่ 4-5 ท่า ที่เห็นท่าใหญ่ๆก็มีท่าเรือของปตท. ท่าเรือมานิต ท่าเรือสดใสเป็นต้น

ที่นี่จะห่างจากตัวจังหวัดขึ้นมาทางเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร เรือใหญ่จึงย้ายฐานมาจอดรอขึ้นของกันที่นี่เลย ด่านศุลกากรก็แสนดี อำนวยความสะดวกให้มีการตรวจปล่อยสินค้ากันที่นี่เลย
โดยท่านนายตรวจจะเดินทางมาช่วยตรวจสินค้าและปล่อยของส่งออกจากจุดนี้เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การนำเข้าสินค้าก็ไม่มีความจำเป็นต้องมาตรวจนำเข้าสินค้ากันที่เกาะสองแล้วครับ เรือพอออกสู่มหาสมุทร ก็ตรงไปที่จุดหมายปลายทางที่เมืองมะริด (Myeik) หรือทะวาย (Dawai)ได้เลย

เพราะที่นั่นคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดของรัฐตะนาวศรีหรือรัฐตะเหน่งดายี่ โดยทางปลายทางด่านศุลกากรเมียนมา ก็ไปตั้งรับการนำเข้ากันที่นั่นเลยครับ

นี่คือการเปลี่ยนแปลงของระบบโลจิสติกครั้งใหญ่ครั้งแรกของจังหวัดระนอง -เกาะสองครับ การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ทำให้สินค้าที่เป็นทั้งสินค้าหนัก ตั้งแต่ปูนซิเมนต์ เหล็กก่อสร้าง เหล็กบีม และสินค้าขนาดเบาเช่น สินค้าอุปโภค-บริโภค ทั้งหมด มาลงท่าเรือที่นี่หมด แต่การรอสินค้าเพื่อให้สินค้าบรรทุกลงเรือได้เต็มลำ ยังคงต้องใช้เวลาอยู่เช่นเดิม

เพราะเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ จะต้องบรรทุกเต็มลำก่อนเสมอ จึงจะคุ้มค่าการบรรทุกแต่ละครั้ง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะทำให้ระบบการขนถ่ายสะดวกขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการลงเรือ และการค้าแม้จะมีมูลค่ามากขึ้น
แต่การค้าสินค้าที่เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่ต้องการความรวดเร็วก็จะเป็นอุปสรรคเช่นเดิมกันปกติ

และเมื่อมีการกำหนดให้การสำแดงชื่อเรือสินค้า ซึ่งบางครั้งก็จะประสบปัญหาการถ่ายโอน หรือเรือเสียชำรุด หรือ ความไม่แน่นอนของการเข้ามาของเรือ ทำให้ยากแก่การสำแดงมาก

ปัญหานี้ผมได้เดินทางไปพบท่านนายด่านศุลกากรที่ด่านจังหวัดระนอง แต่เสียดายที่ไม่ได้พบท่านนายด่านในวันนั้น แต่ท่านรองนายด่านได้ออกมาต้อนรับด้วยความอบอุ่น

อีกทั้งท่านผู้ช่วยฯด่านอีกท่านหนึ่ง ก็ได้ช่วยเหลือเป็นอย่างดี และช่วยกันหาทางออกด้วยการอนุญาตให้แก้ไขชื่อเรือได้เป็นการอำนวยความสะดวกดียิ่งขึ้น ปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของอายุของใบอนุญาตส่งออกสินค้า หรือที่เรียกว่าใบขนส่งสินค้าขาออก เพราะบางครั้งเรือเมื่อมีการถ่ายสินค้าลงเรือแล้ว ยังต้องรอให้สินค้าเต็มลำเรือ

บางครั้งถ้ามีการรอสินค้าบางชนิดหรือบางตัว ทำให้การออกเรือจะล่าช้าลงไป ทำให้ใบอนุญาตขาดอายุ นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่สะดวกมากๆ แต่ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทางด่านศุลกากรเมืองระนองอีกเช่นกันครับ

อย่างไรก็ตามเมื่อมีปัญหา ก็ต้องแก้ไขกันไปครับ การค้าจะหยุดนิ่งไม่ได้ เราก็ทำกันมาหลายสิบปี เจอมาทุกปัญหา และเราเป็นนักธุรกิจ ก็เปรียบเสมือนน้ำที่ไหนต่ำก็ไหลไปที่นั่น นักธุรกิจก็เช่นกัน ที่ไหนสะดวกก็จะไหลไปที่นั่น หาหนทางค้าขายกันไปครับ

อาทิตย์หน้าจะมาเล่าต่อให้อ่านและคาดการณ์กันเล่นๆว่า การเปลี่ยนแปลงในระลอกที่สองจะมีอะไรเกิดขึ้นครับ