posttoday

เมียนมา ตลาดสุดท้ายของประเทศ CLMV

04 พฤศจิกายน 2562

โดย กริช อุ๊งวิฑูรย์สถิตย์

ช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับคำถามจากแฟนคลับเยอะมาก ส่วนมากมักจะเป็นคำถามซ้ำๆกัน แต่มีคำถามสองคำถามที่ผมคิดว่าน่าสนใจ อยากจะนำมาตอบในคอลัมล์นี้ คือ พี่เขาถามมาว่า ปัจจุบันนี้มีพ่อค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่บุกเข้ามาเปิดโกดังเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่แถบสัตหีบ ระยอง

โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายภาษีนำเข้า ที่ผมเคยเขียนลงในคอลัมน์นี้ไปแล้วนั่นแหละ แล้วทำการค้าออนไลน์เป็นล่ำเป็นสันเลย เราไม่สามารถเก็บภาษีอย่างอื่นได้เลย เก็บได้แต่เพียงภาษีนิติบุคคลเท่านั้น
ถามว่าเราจะมีวิถีทางไหนที่ทำให้ประเทศเราไม่เสียประโยชน์มากไปกว่านี้บ้าง ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องขยายครับ

การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่เป็น Tariff barrier นั้น เราได้มีการทำสัญญากับทางจีนด้วยการไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 5,000 บาทไปแล้ว แต่ถ้าหากเราใช้วิธีการอื่นมาใช้ เราก็สามารถทำได้ครับ เช่นเดียวกับทางประเทศเมียนมา ที่เขาฉลาดมาก เขาใช้วิธีเก็บภาษีจากต้นทางนำเข้าได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรานำเข้าสินค้าเข้าไปในประเทศเมียนมา เราต้องเสียภาษีนำเข้าก่อน ตามเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด เช่นอาหารโดนภาษีนำเข้า (Import Tax) 15% หรือวัสดุก่อสร้าง 5% จากราคา CIF หลังจากนั้นท่านต้องจ่ายภาษีการค้า (Commercial Tax) อีก 5% เป็นอัตราก้าวหน้า ซึ่งภาษีตัวนี้ก็คล้ายๆ VAT นั่นเองครับ

ต่อมาก็ต้องจ่ายภาษีรายได้ (Income Tax) อีก 2.2% ซึ่งภาษีนี้ก็คือภาษีที่จะไปหักลบกับภาษีนิติบุคคลปลายปี หากว่าท่านทำบัญชียื่นสรรพกรปลายปีแล้ว ขาดเหลือเท่าไหร่ก็มาคิดกัน แต่ร้อยทั้งร้อยไม่มีได้คืนหรอกครับ มีแต่ขาดต้องจ่ายเพิ่มทุกครั้งไป

จะเห็นว่าเขาเก็บไปก่อนแล้วครับ ทั้งภาษี VAT (แฝงๆอยู่ในรูปของ Commercial Tax) และภาษีนิติบุคคลปลายปี(แฝงในรูปของ Income Tax) ซึ่งทั้งการนำเข้าสินค้าไม่ว่าจะมีภาษีนำเข้าหรือไม่มีภาษีนำเข้า ท่านก็ต้องมีการสำแดง และต้องจ่ายทั้งหมดเช่นกัน เรียกว่าต่อให้มีปีกบินก็หนีไม่พ้น

ในขณะที่ประเทศเรา หากไม่มีภาษีนำเข้าแล้ว ท่านจะเอาภาษี VAT ที่ไหน ถ้าหากเขาไม่แจกแจงหรือทำบัญชีสำแดงการเสียภาษี ก็สามารถหนีได้อย่างลอยนวลเลยครับ ไม่ต้องไปหาช่องทางธรรมชาติให้เสียเวลาเลย

รวมทั้งหากจะหลบภาษีนิติบุคคลปลายปียิ่งสบายมาก แค่ทำบัญชีให้ขาดทุน หรือไม่จดแจ้งให้ชัดเจน ก็รอดตัวแล้วครับ ถามว่าชาวต่างชาติที่หากินในประเทศไทย เขาทราบวิธีการนี้หรือไม่ โธ่.....เขาฉลาดอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงเขาเลยครับ เขาเก่งกว่าเราอีก ผมต้องบอกว่า "เสือถ้าไม่มีลาย มันจะไม่ข้ามห้วยข้ามน้ำ" มาหรอกครับ

อีกเรื่องที่ถามมาว่า ผมทำไมถึงได้เชียร์ให้นักลงทุนและผู้ประกอบการเข้าไปดูหลู่ทางที่เมียนมาจังเลย ผมขออนุญาตอธิบายว่า ที่เชิญชวนกันนั้น ไม่ใช่จะอวดดีอวดเก่งหรอกครับ แต่ถ้าเรามองกันดีๆ ประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ ที่เขาอยู่ไกลออกไป เขาต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมา

เขายังเร่งรีบที่จะเข้ามาที่เมียนมากัน หรือ ลองดูประเทศสิงคโปร์ ที่นั่นเขาส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของเขาเข้ามาที่นี่นานมากแล้ว ผมจำได้ว่าในยุคประธานาธิบดี ลี กวน หยู ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเองเคยเดินทางมาที่ย่างกุ้งเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ด้วยตนเอง

ในยุคนั้นแม้จะมีการบอยคอตจากประเทศตะวันตกอยู่นะครับ อีกประการหนึ่ง ถ้าเราคิดจะไปทำการค้าที่ต่างประเทศ ประเทศในCLMVคือเพื่อนบ้านเรา อยู่ติดรอบรั้วบ้านเราเอง จึงน่าจะง่ายที่สุดในสายตาของผม

แต่หากจะเปรียบเทียบหรือวิเคราะห์กันให้ลึกๆ ระหว่างทั้ง 4 ประเทศแล้วละก็ ประเทศ C หรือกัมพูชา ท่านที่คิดว่าสามารถเขาไปแข่งกับประเทศที่มีเงินทุนหนา เทคโนโลยี่สูง คนมีความฉลาด ขยันอดทน อย่างคนของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เข้าไปยึดหัวหาดใว้เกือบจะหมดแล้ว ผมว่าเราเหนื่อยนะครับ

มาดูที่ประเทศ L หรือสปป.ลาว ผมก็คิดว่าจีนเข้าไปสู่เส้นเลือดเกือบจะเกลี้ยงแล้วครับ อีกทั้งยังมีประชากรที่น้อยกว่า จะมีอย่างเดียวที่เราได้เปรียบเขา ก็คือเรื่องของภาษาเท่านั้นครับ ส่วนอีกประเทศคือ V หรือเวียดนาม ที่นั่นคนเขาพัฒนามากเกือบจะล้ำหน้าเราแล้ว อีกทั้งยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศก็เข้าไปแล้วทุกประเทศ ถ้าหากช่วงเวลาเมื่อยี่สิบปีก่อนหน้านี้ ยังพอทนครับ ในช่วงนี้ใครที่เข้าไปใหม่ๆ ต้องศึกษาให้ดีก็แล้วกันครับ

ดังนั้นประเทศ M หรือประเทศเมียนมาเท่านั้น ที่เพิ่งเปิดประเทศจริงๆจังๆได้ไม่นาน ที่เรายังพอมีโอกาสสู้กับชาวบ้านเขาได้ครับ เพราะเขากำลังเร่งพัฒนาประเทศกันอยู่ เราต้องนึกย้อนไปที่ช่วงประเทศไทยเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เมื่อปีพ.ศ.2504 นั่นแหละครับ ช่วงนี้เขาก็คล้ายๆกับเราทุกอย่างเลยครับ เพียงแต่เขาจะเร็วกว่าเรา เพราะเหตุผลของยุคสมัยและเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

เขามาตอนกำลังเข้าสู่ยุคไอที ดังนั้นเขาจึงมาได้เร็ว หากเราสบช่องสักอย่างหนึ่ง ก็จะมีโอกาสรวยกับเขาได้ ก็มีตัวอย่างให้เห็น ดั่งเช่นยุคพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราไงครับ ผมถึงได้นิยามว่า "เมียนมาเป็นตลาดสุดท้ายในประเทศ CLMV" ครับ