posttoday

อนาคตของมหานครย่างกุ้ง

28 ตุลาคม 2562

โดย กริช อึ๊งวิฑูรย์สถิตย์

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้พยายามจะบอกเล่าว่าที่มหานครย่างกุ้งในอนาคตกำลังจะพัฒนาด้วยโครงการ 80 เมกกะโปรเจ็ค ก็มีพี่ที่เคารพท่านหนึ่งมาหา และอยากจะขอดูเอกสารที่ผมได้รับมาจากทางคณะกรรมการพัฒนานครย่างกุ้ง หรือที่เรียกว่า YCDC

ผมจึงเปิดให้ดู ปรากฏว่าเป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก ท่านถามผมว่าผมคิดว่าหากผู้ประกอบการไทยที่เป็นขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้ประโยชน์อะไรกับโครงการเหล่านี้หรือไม่ เพราะท่านคิดว่าแต่ละโครงการใหญ่ๆทั้งนั้นรายใหญ่จากไทยเข้าไป ก็ไม่แพ้ชาติอื่นๆเช่นกัน

แต่รายเล็กๆละคิดว่าจะได้รับอานิสงค์ด้วยหรือไม่ ผมบอกว่าได้แน่นอน เพราะเราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพราะเหตุผลทางภูมิศาสตร์ เรามีความสะดวกที่จะส่งสินค้าเข้าไปได้หลากหลายกว่าประเทศอื่นๆ ยกเว้นจีน ที่เขามีชายแดนติดกับเมียนมายาวเช่นเดียวกับเรา

เพียงแต่เราจะได้เปรียบเพราะเราใกล้เมืองหลวงเก่าเมืองย่างกุ้งกว่าจีน ท่านเลยบอกผมว่า ควรจะนำมาเสนอในคอลัมน์นี้นะ เพราะหากผู้ประกอบการไทยได้เห็น ก็ควรจะต้องรีบเข้าไป เพื่อรับอานิสงค์จากโปรเจ็คเหล่านี้ ผมจึงขอนำเสนอต่อเพื่อแชร์ให้ท่านเห็นภาพนะครับ

โครงการหนึ่งที่น่าจะมีผลต่อการพัฒนามหานครย่างกุ้งอย่างมาก คือ โครงการสร้างถนนวงแหวนรอบนอกรอบที่หนึ่งและรอบที่สอง วันนี้ผมเอารอบที่หนึ่งมาให้ดูกันก่อนนะครับ รอบที่หนึ่งนั้นจะเป็นรอบชั้นใน ที่มีความยาวไม่มาก เพราะอยู่ในรอบในของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้

แต่จะเป็นทางรถไฟรอบเมืองที่มีสถานีรถไฟอยู่ถึง 38 สถานี ซึ่งในนั้นมีหลายๆสถานีที่ผ่านชุมชนที่หลายคนที่รู้จักเมืองย่างกุ้งดี จะทราบว่าล้วนเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ๆทั้งสิ้น เช่น จากริมฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งที่เป็นท่าเรือปัจจุบัน ต่อมาที่ปะซุ่นต่อง ข้ามฝั่งไปที่ตามุย ต่อไปที่ต่องอ๊อกกะล่า ไปยังเมียวอ๊อกกะล่า เลยไปที่แม่งกะล่าด่อง

แล้ววกกับมาที่เขตอินเซ่ง แล้วจึงอ้อมมาทางตี่ลี่แม่งกะล่า มาทางอะโหล่งแล้ว จึงเข้ามาบรรจบกันที่เดิม เป็นวงกลมรอบหนึ่งนั่นเอง มาดูต่อที่ทางวงแหวนรอบที่สอง คราวนี้สำคัญละครับ เพราะเป็นวงแหวนที่รอบกว้างขึ้น

เพราะหากเราเริ่มที่วงใหญ่ตามเข็มนาฬิกานะครับ ต้องเริ่มที่นอกเมืองที่นิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า ข้ามมาที่เมืองใหม่ของย่างกุ้ง หรือ ที่เรียกว่า "New Yangon City" มาที่เขตด่าล้า ตรงไปที่นิคมอุตสาหกรรมติลาว่าที่มีทั้งท่าเรือใหม่และนิคมอุตสาหกรรมนั่นแหละครับ

จากนั้นก็ต่อมาที่เขตตะหงิ่น ข้ามมาที่นิคมอุตสาหกรรมตะโก่งเซกัน จึงต่อมาที่นิคมอุตสาหกรรมอะเช้ตะโก่ง ต่อมาที่นิคมอุตสาหกรรมแม่งกะล่าด่อง ข้ามไปที่นิคมอุตสาหกรรมลันตะย่าอีกครั้ง จึงครบรอบหนึ่งรอบใหญ่

ทางด่วนที่ก่อสร้างนี้ จะเป็นทางยกระดับสองชั้น ที่มีทั้งถนนหกเลน และมีทางรถไฟอยู่ด้วยครับ ข้างล่างจะเป็นทางถนนธรรมดานั่นเองครับ ทีนี้มาดูว่าแล้วความเจริญที่เข้ามานั้น จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านใดบ้าง แล้วใครจะได้ประโยชน์เหล่านี้

ผมต้องพูดว่า ธุรกิจต่อเนื่องทั้งต้นน้ำปลายน้ำ ล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้นครับ เริ่มจากการที่สถาปนิกที่ใช้ออกแบบต่างๆ เพราะที่ผ่านมาที่เมียนมาเองก็มีสถาปนิกเก่งๆก็เยอะ แต่เขานิยมจ้างสถาปนิกจากประเทศสิงคโปร์ เขายังไม่รู้จักสถาปนิกไทย

ในขณะที่อัตราค่าจ้างของสถาปนิกไทยถูกกว่าสิงคโปร์กว่าครึ่งแต่คุณภาพไม่ต่างกันเลย ต่อมาก็วิศวกร อาชีพนี้ก็เช่นเดียวกันกับอาชีพที่กล่าวก่อนหน้านี้ครับ
ต่อมาก็พ่อค้าวานิชย์ที่ค้าขายอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ

เราอย่าไปเหมารวมถึงผู้ประกอบการใหญ่ๆนะครับ เอสเอ็มอีก็มีโอกาสเช่นกัน เพียงแต่ท่านจะไปจับตรงจุดไหนนั่นเอง ยังมีผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่สามารถรับช่วงงานต่อจากผู้เล่นรายใหญ่ได้นั่นเองครับ ต่อมารายเล็กๆของผู้ตกแต่งภายในที่จะมีมากในการพัฒนาประเทศคราวนี้

นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่นๆอีกมากมายครับ เรียกว่าฝนตกทั่วฟ้าแน่นอนครับ จะเห็นว่าการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง ให้เป็นเมกกะโปรเจ็คนั้น ไม่สามารถสร้างได้ในวันเดียว ดังนั้นเขายังมีความต้องการอีกมากมาย และยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานทีเดียว

เราเองมีดินแดนอยู่ติดกับประเทศเมียนมายาวมากถึงเกือบสองพันกิโลเมตรทีเดียว แต่คนไทยเราไม่ได้รู้จักคนเมียนมากันนัก เราไม่รู้จักเมืองย่างกุ้งเลย ถ้าเราไปถามคนไทยเราว่าเขตเมืองย่างกุ้งมีอยู่กี่เขต เขตนั้นเขตนี้อยู่ที่ไหน ผมเชื่อว่าคำตอบที่ได้คือไม่รู้ และไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม นี่คือความจริง

แต่อย่าลืมว่าเมียนมาคือตลาดแห่งสุดท้ายของประเทศ CLMV ที่กำลังเปิดอยู่ ดังนั้นหากเราไม่กระโดดโลดเต้นที่จะเข้าไป เราปล่อยให้ฝรั่งมังค่าหรือประเทศอื่นที่อยู่ห่างไกล ที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาแย่งชิงตลาดนี้ไปจากเรา ผมคิดว่าน่าเสียดายมากเลยครับ

ในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ผมได้เปิดสัมมนาเรื่อง "เปิดประตูเมียนมา...อสังหาริมทรัพย์ในย่างกุ้งกับโอกาสของผู้ประกอบการไทย" อยากจะเรียนเชิญท่านที่สนใจเข้ารับฟังด้วยการโทรศัพพ์เข้าไปสอบถามได้ที่ 02-3451131 หรือที่ E-Mail: [email protected] ที่นั่งมีจำนวนจำกัดนะครับ