posttoday

ซอฟต์แวร์ปาร์ค ณ เชียงใหม่วันนี้

11 สิงหาคม 2562

โดย กริช อึ๊งวิฑูรย์สถิตย์

วันนี้ผมได้มานอนที่เชียงใหม่ ที่ออนวัลเลย์ (Oon valley) ซึ่งผมบินมาพบเพื่อนท่านหนึ่ง จากคำเชิญของเขา ท่านนั้นคือคุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ ซึ่งผมมากันทั้งหมดสามคนด้วยกัน เพื่อนมาเยี่ยมชมโครงการ Oon Valley และโครงการซอฟต์แวร์ปาร์ค ของบริษัท โปรซอฟต์ จำกัด

ซึ่งคุณวิโรจน์ได้ลงทุนไปหลายร้อยล้าน เห็นแนวคิดและความตั้งใจของคุณวิโรจน์ ผมจึงได้เดินทางมาเยี่ยมชม น่าชื่นชมครับในแนวคิดการพัฒนาของคุณวิโรจน์ ที่ทำเพื่อมารองรับความเจริญเติบโตในอนาคตของประเทศฯ ประเทศไทยควรจะมีคนอย่างท่านเยอะๆนะครับ

ผมจะขอเล่าให้ฟังในแนวคิดของคุณวิโรจน์ เพื่อจะได้ให้เพื่อนๆมาชมผ่านทางตัวอักษรไปด้วยกันครับ

ถ้าไม่ได้เล่าถึงประวัติเล็กน้อยของคุณวิโรจน์ บทความนี้ก็คงจะไม่สมบูรณ์ เอาสักนิดก็แล้วกันนะครับ คุณวิโรจน์เป็นชาวขอนแก่น เรียนจบมาทางบริหารธุรกิจ สาขาบัญชี และได้สนใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกไอทีมาโดยตลอด วันหนึ่งจึงได้กระโดดเข้าสู่วงการไอที ด้วยการจัดตั้งบริษัท โปรซอฟท์ จำกัดขึ้นมาเพื่อผลิตซอฟต์แวร์เพื่อให้คนไทยได้รับบริการในราคาที่ไม่สูงเกินเอื้อมนัก

โดยดำเนินการที่จังหวัดขอนแก่นบ้านเกิด ช่วงแรกโชคไม่เข้าข้าง จึงได้ล้มลุกคลุกคลานมา จนกระทั่งวันหนึ่งได้ชวนศรีภรรยาเดินทางมาที่เชียงใหม่ เพราะคิดว่าจะหาแหล่งที่แรงงานไม่แพงจนเกินไป จะได้ไม่แบกรับภาระของต้นทุนที่สูงมากไป จึงได้ลงหลักปักฐานที่นี่

อย่างไรก็ตาม ตลาดใหญ่ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นก็ยังคงอยู่ที่เมืองหลวงของประเทศเสมอ ก็คือที่กรุงเทพฯนั่นเอง คุณวิโรจน์จึงได้มีการจัดตั้งออฟฟิศการขายและบริการหลังการขายที่กรุงเทพฯ และออฟฟิศหลักอยู่ที่เชียงใหม่ ปัจจุบันนี้บริษัทได้แตกบริษัทเล็กบริษัทบริวารอีกสี่ห้าบริษัท โดยผลิตซอฟต์แวร์ที่ใช้งานแตกต่างกันเพื่อเป็นการรองรับความเจริญเติบโตและการพัฒนาประเทศออกไปในทิศทางของ AI ในอนาคตที่กำลังคืบคลานเข้ามาสู่สังคมโลกในวันนี้

เมื่อสร้างไอทีปาร์คขึ้นมาแล้ว คุณวิโรจน์ยังเห็นว่าควรจะมีศูนย์ฝึกอบรมสำหรับบ่มเพาะนักโปรแกรมคอมพิวเตอร์และผู้ใช้บริการทุกๆด้านของระบบซอฟต์แวร์ด้วย เพราะถ้าหากมีปืนมีกระสุนเป็นสมบัติใว้ที่บ้าน แต่ไม่มีคนที่สามารถใช้ปืนเป็น ปืนนั้นก็ไม่มีความหมาย มันก็เป็นแค่เครื่องประดับเท่านั้นเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอนและฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ให้สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้

จึงได้มาซื้อที่ดินร้อยกว่าไร่ ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากโปร์ซอฟต์ปาร์คที่ตัวจังหวัดเพียงแค่ยี่สิบกว่ากิโลเมตรหรือยี่สิบนาทีเท่านั้น ที่ Oon valley นี้ จะมีห้องอบรมสัมมนาอยู่หลายห้องในอาคารเดียวกัน โดยลงทุนสร้างเป็นอาคารสามชั้น ในอาคารจะมีห้องออฟฟิศจำลอง เพื่อใว้เป็นที่สอนบุคคลากรรุ่นใหม่

ยังมีที่พักสำหรับรองรับผู้ที่จะเข้ามาอบรมอีกหลังหนึ่ง ซึ่งมีห้องพักระดับโรงแรม แต่ละห้องมีเตียงสี่เตียง มีทั้งหมด สิบสี่ห้อง อีกทั้งมีห้องอาหารน่ารักๆ ห้องกาแฟสำหรับผู้มาเยือนอีกหนึ่งห้อง ด้านข้างจะเป็น Dutch Farm ที่นี่จะมีม้าแคะ แกะ และสัตว์ต่างๆอีกหลายชนิด ใว้คอยให้บริการนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนครับ ยังมีสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานอีกสองสนามอีกด้วย

คุณวิโรจน์ ยังมีสวนครัวที่ปลูกผักออร์แกนิค และนาข้าวที่ปลูกข้าวหอมมะลิใว้คอยบริการ ซึ่งไม่ต้องซื้อหาข้าวสารจากภายนอกเลยครับ เรื่องความสวยงามที่นี่ก็ทำใว้พอที่จะเป็นหน้าเป็นตาได้เลยทีเดียวครับ เรียกว่ามาพักเพื่อเรียนรู้เรื่องไอทีแล้ว ยังได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติไปด้วยครับ

คุณวิโรจน์ตั้งใจใว้ว่าจะต้องสร้างบุคคลากรทางด้านบัญชี ที่จะต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ที่บริษัท โปรซอฟท์ จำกัดได้ผลิตและสร้างขึ้นมาจากมันสมองของเพื่อนร่วมงานทั้งหมดสองร้อยกว่าชีวิต ที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานใว้ให้ใช้บริการ

โดยท่านจะให้ความรู้ฟรียังไม่พอ ยังตั้งใจว่าจะให้ใช้โปรแกรมฟรีอีกห้าปี โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งคุณวิโรจน์ตั้งเป้าหมายว่าจะแจกฟรีให้แก่ผู้ที่สนใจทั้งหมด หนึ่งแสนบริษัทฯ เพื่อจะได้เป็นกำลังในการช่วยกันพัฒนาประเทศชาติ ให้ทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้วทั่วไปครับ

เพราะถ้าหากไม่มีกำลังของคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบคอมพิวเตอร์ที่ดีพอ ก็ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคได้ ประเทศไทยคงตามไม่ทันประเทศอื่นๆอย่างแน่นอน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่ในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก น่าชื่นชมในแนวคิดนี้ทีเดียวครับ

มาเชียงใหม่ครั้งนี้ผมมีความรู้สึกเสียดายแทนคนล้านนาอยู่อย่างหนึ่ง คือคนเชียงใหม่และเชียงรายไม่ค่อยจะเห็นความสำคัญของภาษาล้านนาหรือคำเมืองเท่าที่ควร เพราะที่ผมมาเยือนเชียงใหม่หลายครั้ง ในระยะหลังๆนี้ จะพบว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงแรม พนักงานเสริฟ หรือแม้กระทั้งผู้คอยให้บริการในสนามบิน
ไม่ค่อยมีคนยอมพูดภาษาเหนือหรือคำเมืองกันเท่าไหร่

พอเราพูดคำเมืองด้วย (เพราะผมเคยอยู่เชียงรายมานาน จึงอู้คำเมืองได้ชัดพอๆกับคนเมืองแท้ๆ) เขาจะพูดภาษาไทยกลางตอบกลับทุกครั้ง ผมรู้สึกผิดหวังมากๆ ที่เห็นคนรุ่นใหม่ไม่พูดภาษาล้านนาหรือคำเมือง ที่เป็นวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมเลย พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ไม่ค่อยจะสอนลูกหลานให้รักษาวัฒนธรรมอันดีงามนี้ใว้

ทำให้ผมคิดว่า หากสักวันหนึ่งคนเมืองหรือคนเหนืออู้คำเมืองบ่จ้าง (พูดภาษาเหนือไม่เป็น) มันจะน่าเสียดายขนาดใหน เพื่อนๆที่อ่านบทความนี้ช่วยกันนะครับ ช่วยกันกระตุ้นคนเมือง(ชาวพื้นเมือง) ให้หันกลับมาเห็นความสำคัญของคำเมือง (ภาษาล้านนา)กันให้มากๆ

อย่าให้วัฒนธรรมอื่นๆเข้ามาครอบงำเลยนะครับ เสียดายครับ