posttoday

อุปสรรคการค้าชายแดนข้ามประเทศ

29 กรกฎาคม 2562

ครั้งที่ผ่านมาผมได้อธิบายถึงเส้นทางการค้าชายแดนข้ามประเทศให้ได้อ่านเพื่อความเข้าใจกันแล้ว คราวนี้จะนำเรื่องจริงมาเล่าให้เห็นถึงอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้น

โดย กริช อึ๊งวิฑูรย์สถิตย์

ครั้งที่ผ่านมาผมได้อธิบายถึงเส้นทางการค้าชายแดนข้ามประเทศให้ได้อ่านเพื่อความเข้าใจกันแล้ว คราวนี้จะนำเรื่องจริงมาเล่าให้เห็นถึงอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้น แล้วท่านจะเห็นได้ว่าการค้าชายแดนและพ่อค้าแม่ขายของไทยเรานั้นได้เจอะเจอมา มันไม่ง่ายเลยครับ

บางครั้งชั้นเชิงทางการค้าของเราเป็นรองเขาเยอะ เพราะอาศัยความซื่อเป็นหลัก แต่เพื่อนๆเราที่ต่างประเทศ เขาอาจจะไม่ได้ซื่อเหมือนเรา บางครั้งเราต้องใช้การซื้อใจกัน แต่ก็ราคาแพงเหลือเกิน กระทั้งหมดเนื้อหมดตัวเลยก็มี ผมพยายามบอกว่า “เราทำการค้าแบบซื่อสัตย์ ไม่โกงเขา แต่ก็อย่าให้เขาโกงเรานะครับ”

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาน้องรักผมคนหนึ่งได้พาผู้ประกอบการการค้าชายแดนข้ามประเทศมาหา เขาทำการค้ากับพ่อค้าชาวจีน ผ่านทางด่านสปป.ลาว ข้ามไปเวียดนาม เพื่อเข้าประเทศจีนที่ด่านชายแดนหลั่งเซิง ที่ผ่านมาก็ล้มลุกคลุกคลานกันน่าดู เพราะไปพบอุปสรรคที่แก้ไม่ตก

จึงมาขอให้ผมช่วย ผมเลยรับอาสาพาไปหาเพื่อนผมคนหนึ่งที่เวียตนาม ซึ่งเพื่อนผมคนนี้ชื่อว่า มิสหวง เป็นสาวแกร่งจากไต้หวัน ที่มาทำการค้าอยู่ที่ชายแดนเวียดนาม-จีนมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จากสาววัยรุ่นจนกระทั่งเป็นเจ้าแม่ชายแดนเลยครับ ทำจนกระทั่งขออนุญาตเปิดด่านศุลกากรที่ชายแดนเวียดนาม-จีนได้ โดยได้รับสัมปทานจากประเทศจีนครับ

ผมคิดว่าน่าจะช่วยเขาได้ และสามารถเพิ่มขีดจำกัดในการค้าขายได้ ผมทำไปโดยที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆเลย เพียงแค่อยากเห็นตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเราเพิ่มขึ้นเท่านั้น ก่อนเดินทางผมบอกว่าจะซื้อตั๋วเครื่องบินเองนะ ไม่ขอให้เขาจ่ายค่าเดินทางให้ เพราะเกรงใจเขา เห็นเขาทำมาหากินเราก็ดีใจแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆเขาก็แอบไปจองตั๋วให้เรียบร้อยเลย

เราเดินทางโดยใช้บริการของเวียดแจทแอร์ไลน์ส บินตรงจากดอนเมืองสู่เมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนามเลยครับ ครั้งนี้ผมพาศรีภรรยาไปด้วย ซึ่งปกติจะไม่ค่อยยอมไปใหนกับผมนัก เพราะเขารำคาญใจที่จะต้องไปทานข้าวกับเพื่อนๆชาวต่างชาติ เพราะว่าเสียเวลาทานข้าวมาก ทำให้ไม่ได้ไปดูสิ่งที่เขาอยากเห็น และไม่ได้ทานสิ่งที่เขาอยากทาน ต่างจากไปเที่ยวเองเป็นครอบครัว เราจะสามารถทานอาหารข้างถนนได้โดยไม่ต้องทานอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวมากนัก อ้าว...พาออกทะเลอีกแล้ว กลับมาที่การเดินทางในทริปนี้กันครับ

สาเหตุที่ผมพาเพื่อนใหม่นักการค้าชายแดนข้ามประเทศมานั้น เนื่องจากเขาค้าขายทุเรียนเข้าไปประเทศจีน ทุกๆสี่ห้ารอบก็จะเจอปัญหาอุปสรรคเสียหนึ่งรอบ ทำให้เขาต้องขาดทุนบ้างกำไรบ้างตลอดเวลา ก็คล้ายทำการค้าแบบรำวงสาละวันนั่นแหละครับ

อ้าวๆๆๆรำวงสาละวันคืออะไร เด็กๆรุ่นใหม่อาจงงอีก ก็คือ “สาละวันเดินหน้า แล้วก็สาละวันถอยหลัง” ไงละ ไปไม่ถึงสักที ที่นี่ก็เช่นกัน พอขายๆไปได้ดีๆ ก็ติดปัญหาอีกแล้ว ทำให้มีเรื่องต้องปวดหัวตลอด เริ่มจากที่ในประเทศไทยเราเองก่อนเลยครับ

เจ้าหน้าที่รัฐเราเองก็มักจะมีข้อจำกัดเยอะแยะ เช่นใบอนุญาตแหล่งกำเหนิดสินค้า หรือใบ C/O (Certificate Of Origin) ที่ต้องใช้เวลาในการขอและค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถใช้อ้างอิงกับสรรพากรได้ อันนี้น่ารังเกียจมาก และใบอนุญาตของกองกักกันพืช ถ้าเป็นทางภาคตะวันออก ก็ต้องไปขอที่ระยอง ถ้าเป็นทุเรียนใต้ ต้องไปขอที่ระนอง คิดดูนะครับว่าการเดินทางและค่าใช้จ่ายนั้นจะสักเท่าไหร่ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจไม่ทราบหรืออยากทราบ ให้นัดมาหลังไมค์ได้เลยครับ ผมจะพาผู้ประกอบการตัวจริงมาอธิบายให้ท่านผู้มีอำนาจฟังเองครับ นี่ไม่แน่ใจว่าเป็นการส่งเสริมการส่งออกหรือส่งเสริมอะไรกันแน่ครับ

มาที่ด่านลาว เข้าจะต้องเร่งนำทุเรียนผ่านแดนไปส่งให้ถึงด่านชายแดนเวียดนาม-จีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะหากล่าช้า ทุเรียนสุกก่อน จะถูกผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับทันทีครับ นั่นหมายความว่าทุเรียนเที่ยวนั้นต้องถูกโยนทิ้งทั้งคันรถเลยครับ นี่คือปัญหาที่ทำให้เขาขาดทุน เป็นการค้าแบบสาละวันอย่างที่ว่าใว้

ที่สปป.ลาวปัญหาไม่ค่อยมาก เพราะเขาเสียค่าเหยียบแผ่นดินหรือภาษีผ่านแดนไปก็จบ แต่พอไปถึงด่านเวียดนามปัญหาก็เริ่มมีแล้วครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากเรื่องของเวลาการเดินทาง การขนส่ง ด่านตรวจสินค้า ด่านศุลกากร การคมนาคม เรื่องรถเรื่องราต่างๆ เยอะแยะไปหมด แต่ชีวิตเลือกไม่ได้ ก็ต้องสู้กันไปครับ อันนี้น่าเห็นใจที่สุด ผมเองผ่านร้อนผ่านหนาวในการทำการค้าชายแดนมาร่วมสามสิบปี ทราบซึ้งถึงความลำบากของเขาเป็นอย่างยิ่ง ถึงได้อาสาพามาเพื่อแก้ปัญหาให้เขาโดยไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ส่วนต้วเลยแม้แต่บาทเดียวครับ

ไม่จบ อาทิตย์หน้ามาเล่าต่อครับ โปรดติดตามครับ