posttoday

วันแรงงานแห่งชาติของชาวอาเชี่ยน

11 พฤษภาคม 2562

คอลัมน์ ขุมทรัพย์ชายแดนไทย

คอลัมน์ ขุมทรัพย์ชายแดนไทย

โดย กริช อึ้งวิทูรสถิตย์

วันที่ 1 พ.ค.ของทุกๆปี เป็นวันแรงงานสากล ที่ชาวอาเชี่ยนเองที่จะยังคงยึดถือว่าเป็นวันแรงงานแห่งชาติของตัวเองไป ทั้งๆที่วันนี้เป็นแรงงานของทุกๆชาติ เรามาดูว่าแต่ละชาติเขาคิดเห็นกันอย่างไรนะครับ

มาที่เวียดนามก่อน ที่นี่เนื่องจากวันที่ 30 เมษายน จะเป็นวันฉลองอิสระภาพ เพราะวันนี้เป็นวันที่เมืองไซ่ง่อน (ปัจจุบันนี้เป็นเมืองโฮจิมินห์) ถูกรถถังคันแรกจากทหารเวียดกงขับเข้ามายึดเอาทำเนียบประธานาธิบดี กลางใจเมืองไซ่ง่อน และประกาศชัยชนะเหนือสหรัฐอเมริกาและเหล่าพันธมิตร

ดังนั้นจึงเป็นวันที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขามากๆ เขาจึงมีการกำหนดให้เป็นวันหยุดประจำปี ดังนั้นพอมาถึงวันที่ 1 พ.ค. จึงได้หยุดงานเพิ่มอีกหนึ่งวัน หากปีใหนติดกับเสาร์อาทิตย์ เขาจะถือโอกาสหยุดยาวเลยครับ

สำหรับปีนี้ แรงงานชาวเวียดนามปีนี้ค่าแรงขึ้นน้อยกว่าทุกๆปี ปกติจะเพิ่มขึ้นประมาณ 13 % แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นเพียง 5% และที่นี่ไม่ได้เหมือนกับเราที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในวันแรงงาน เขาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีแล้วครับ ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ แต่ละเมืองจะต่างกันออกไปครับ

ค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนของปีที่ผ่านมานั้น เมืองโฮจิมินห์ 3,980,000 ด่อง เมืองเตี่ยงยาง 3,530,000 ด่อง เมืองดาลัท 3,090,000 ด่อง เมืองแหง่อัน 2,750,000 ด่อง สรุปการขึ้นค่าแรงที่นี่ 2015 ขึ้นไป 13,16% ในปี 2016 ขึ้นไป11.63% ในปี 2017 ขึ้นไป 7.5% ในปี 2018 ขึ้นไป 6.98% ในปี 2019 ขึ้นไป 5%

ส่วนที่สปป.ลาวก็ให้ความสำคัญกับวันแรงงานน้อยมาก แค่เป็นวันหยุดวันหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้นำมาเรียกร้องขึ้นค่าแรงแต่อย่างใด ส่วนค่าแรงขั้นต่ำนั้น อยู่ที่ประมาณวันละ 109 บาทส่วนการเพิ่มค่าแรงเมื่อต้นปีก็มีประกาศออกมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม จะมีผลในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ขยับมาเป็นวันละ 133 บาท (จาก 900,000 กีบ เป็น 1,100,000 กีบ) ซึ่งไม่น้อยเลยครับ ประมาณ 22 % น่าจะมีนัยยะมากทีเดียวครับ

ส่วนกิจกรรมที่จัดทำในวันแรงงาน ก็ไม่มีการทำกิจกรรมใดๆมากนัก ผมได้สอบถามจากน้องรักผมที่ทำธุรกิจในลาวมาหลายปี คือคุณจิม ก็กรุณาบอกมาว่า ปัจจุบันนี้ก็จะจ้างงานกันประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อเดือน และที่นี่การจ้างงานสำหรับพนักงานขายหรือเซลส์แมน ก็จะจ้างกันประมาณ 12,000-15,000 บาทรวมค่าคอมมิสชั่น ส่วนวุฒิการศึกษา เขาก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะที่นี่วุฒิการศึกษาเชื่อไม่ค่อยได้เท่าไหร่ครับ

มาดูที่กัมพูชาครับ ที่นี่ผมไม่ค่อยจะมีข้อมูลเท่าไหร่ เพราะติดต่อกับพี่ที่เค่ารพรักไม่ได้เลย พอจะทราบคร่าวๆแค่ค่าแรงขั้นต่ำของเขาอยู่ที่ 162 -165 บาทต่อวัน ปีนี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ค่อยจะรุนแรงเหมือนไทยเรานะครับ

ที่เมียนมาก็หนักหนาสาหัสมากที่สุดในแถบ CLMV เพราะที่ผ่านๆมา ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำมานาน พอมาเริ่มไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มเลยก็กำหนดใว้ที่ 3,600 จ๊าดเริ่มใช้ตั้งแต่ ปี 2016 เป็นต้นมา และในเดือนมิถุนายนปี 2018 ก็ได้เริ่มขยับขึ้นเป็น 4,800 จ๊าด ซึ่งที่เห็นเริ่มใช้จริงๆเมื่อต้นปีนี้เองครับ ซึ่งขยับมากถึง 33% ดังนั้นจึงเป็นที่น่าเป็นห่วงในเรื่องเงินเฟ้อเป็นอย่างยิ่งครับ

ส่วนพี่ไทยเรา ที่เห็นประกาศหาเสียงกันโครมๆว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้นเท่านี้  เพราะการขึ้นค่าแรงนั้นเป็นสิ่งจำเป็นก็จริงอยู่ แต่ถ้าหากขึ้นค่าแรงมากๆ ผลกระทบที่จะตามมาจากผลทางด้านเศรษฐศาสตร์นั้นจะตามมาอีกเยอะมาก เพราะอย่าลืมว่าเงินเฟ้อหรือเงินฝืดจะตามมา ค่าครองชีพและรายได้ไม่สัมพันธ์กัน หรือรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย แล้วอะไรจะเกิดขึ้น

อีกประการหนึ่งคือเราต้องมองทั้งภูมิภาค เราไม่สามารถย้ายประเทศไทยไปอยู่ห่างจากประเทศเพื่อนบ้านได้ เราต้องอยู่กับเขาชั่วกัปชั่วกัลป์ พอสถานะทางเศรษฐกิจเขามีปัญหา แน่นอนว่าแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวง่ายที่สุด อุปมาเสมือนน้ำสองบ่อที่อยู่ติดกัน หากน้ำในบ่อหนึ่งสูงกว่าอีกบ่อหนึ่ง น้ำในบ่อที่สูงกว่าย่อมไหลมาสู่บ่อที่น้ำต่ำกว่า นี่คือสัจจะธรรมครับ ดังนั้นปัญหาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้นเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองนะครับ อย่ามองอะไรเป็นเรื่องง่ายๆไปเสียหมด เพราะผลตามมาจะเป็นสึนามิครับ