posttoday

เจาะโอกาสลงทุนดิจิทัล ในเมียนมา

21 มิถุนายน 2561

จากกระแสการเปลี่ยนทางเทคโนโลยี หรือ Digital Disruption ธุรกิจในเมียนมาได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ต่างจากประเทศไทย

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

จากกระแสการเปลี่ยนทางเทคโนโลยี หรือ Digital Disruption ธุรกิจในเมียนมาได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ต่างจากประเทศไทย ส่งผลให้เมียนมาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี เป็นโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล

ซอ ทุด เลขาธิการร่วม สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เมียนมา (Myanmar Computer Industry Association) เปิดเผยว่า อินเทอร์เน็ตเข้ามาในประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการในปี 2544 และในปี 2548 ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเมียนมา มีราคาชิ้นละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในประเทศไทยขณะนั้น มีราคาเพียง 1 ดอลลาร์ แต่เมื่อเมียนมาเปิดประเทศ ให้นักธุรกิจลงทุนด้านโทรคมนาคม ตามความต้องการของตลาด การแข่งขันทางธุรกิจจึงเกิดขึ้น ราคาซิม และอินเทอร์เน็ตต่ำลง สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเติบโตของธุรกิจ ทั้งนี้แม้ว่าโอกาสในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลในเมียนมาจะเพิ่มขึ้น แต่นักลงทุนต้องคำนึงถึงการให้ความรู้กับคนในพื้นที่ เนื่องจากดิจิทัลยังเป็นเรื่องใหม่ในเมียนมา รวมถึงผู้ประกอบการต้องมีเงินทุนเพียงพอในการเริ่มต้นธุรกิจ

ทั้งนี้ แต่ละปีมีบัณฑิตจบการศึกษาด้านไอทีในเมียนมากว่า 1 หมื่นราย แสดงให้เห็นว่าเมียนมาไม่ได้ขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ เพียงแต่ภาคส่วนธุรกิจจะสามารถร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในเมียนมาได้อย่างไร เพื่อให้บัณฑิตที่จบมาสามารถเริ่มต้นการทำงานได้ทันที นอกจากนี้ประชากรเมียนมากว่า 70% อยู่ในภาคส่วนการเกษตรดังนั้นการพัฒนาด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกับการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของเมียนมา

ณัฐพงษ์ เต็มศิริพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Digital Solution Interantional co.,LTD Myanmar เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวเมียนมาเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น มองว่าเป็นโอกาสกับอุตสาหกรรมไอที แม้ว่ายังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานบางด้าน แต่ส่งผลดีในแง่การแข่งขันยังไม่รุนแรง โดยผู้ประกอบการต้องสำรวจตลาดว่าธุรกิจของตนเองเหมาะสมหรือไม่ และจะปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นได้อย่างไรบ้าง ดังนั้นแผนธุรกิจจึงสำคัญ เนื่องจากอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นอุตสาหกรรมที่กว้างและสามารถปรับใช้กับทุกภาคส่วนได้หมด โดยการเข้าใจตลาด และการศึกษากฎหมายก่อนการลงทุน เป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการประสบผลสำเร็จ

สำหรับความท้าทายของการทำธุรกิจในเมียนมา คือความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่สามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจ นอกจากนี้การมีหุ้นส่วนท้องถิ่น เป็นช่องทางที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย เข้าใจกฎหมายของเมียนมาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งเรื่องการนำเข้า การส่งออกสินค้า การทำบัญชี และการเสียภาษี รวมทั้งเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น และการติดต่อประสานงานในประเทศง่ายขึ้น ทั้งนี้ จากประสบการณ์การทำธุรกิจในเมียนมา พบว่าการพัฒนาด้านโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต และไอที ปรับปรุงในทิศทางที่ดีขึ้น และรัฐบาลเองก็สนับสนุนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านนี้

เนียน ชัน โซ วิน (Nyein Chan Soe Win) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท GAT Myanmar เปิดเผยว่า เมียนมาเป็นประเทศที่พัฒนาด้านโทรคมนาคมอย่างก้าวกระโดด จากเทคโนโลยี 2จี ไปสู่เทคโนโลยี 4จี ทั้งนี้เชื่อว่าทุกภาคส่วนล้วนเป็นโอกาสการขยายธุรกิจของอุตสาหกรรมไอที และซอฟต์แวร์ทั้งสิ้น แต่สำหรับภาคส่วนสำคัญที่เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากที่สุด ได้แก่ ภาคส่วนท่องเที่ยว อี-คอมเมิร์ซ ดิจิทัล คอนเทนต์ และอุตสาหกรรมการเกษตร ที่อนาคตซอฟต์แวร์จะเข้ามามีอิทธิพลสูง

ขณะที่ข้อควรระวังด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล คือ ผู้ลงทุนต้องพึงระลึกเสมอว่าดิจิทัลยังเป็นเรื่องใหม่ บล็อกเชนยังเป็นเรื่องใหม่ จึงควรให้ความรู้กับผู้ใช้บริการให้มากที่สุดด้วย