posttoday

เอดีบีส่องอาเซียน ส่งออกดันจีดีพีโตต่อ

12 เมษายน 2561

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบีมีมุมมองเชิงบวกกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน

 

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบีมีมุมมองเชิงบวกกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยยังคงอัตราการเติบโตที่ 5.2% ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยการค้าโลก ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อภูมิภาคนี้

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook : ADO) ปี 2561 ได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัว 5.2% ในปี 2561 และยังคงเติบโตในอัตราเดียวกันในปี 2562 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2560

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของแต่ละกลุ่มขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การส่งออกพลังงานขึ้นอยู่กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก แต่ปัจจัยสำคัญที่สร้างการเติบโตให้กับภูมิภาคนี้มาจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนโครงสร้าง
พื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะการเติบโตในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย จะมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีค่อยๆ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่เวียดนามได้รับอานิสงส์จากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

การขยายตัวของภาคการส่งออกในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่ปี 2560 ที่เพิ่มขึ้น 4.9% หากไม่คิดในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวถึง 9.6% ใน 5 กลุ่มสินค้าสำคัญของภูมิภาคนี้ ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์และภาคอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ การขยายตัวของภาคส่งออก ทำให้มีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จากเดิมที่คาดว่าในปี 2561 และ 2562 การเติบโตจะชะลอตัวลง

สำหรับความเสี่ยงต่างๆ ถือเป็นปัจจัยลบต่อการประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยความเสี่ยงหลักเกิดขึ้นจากความกังวลว่าความตึงเครียดทางการค้าจะบานปลาย แม้ว่านโยบายขึ้นภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทของสหรัฐจะยังไม่ส่งผลต่อการค้าเท่าใดนัก แต่การเคลื่อนไหวต่อไปของสหรัฐและการโต้ตอบของประเทศต่างๆ ที่มีต่อสหรัฐจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนในเอเชียและแปซิฟิกถดถอยลง

นอกจากนั้น การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะเป็นตัวเร่งการไหลออกของเงินทุน แต่สภาพคล่องที่มีจำนวนมากในภูมิภาคจะช่วยบรรเทาผลกระทบความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะสามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาคือสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น โดยหลังจากวิกฤตการเงินในปี 2552-2553 สัดส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐและประเทศพัฒนามีแนวโน้มลดลง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบ โดยตั้งแต่ปี 2551 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2560 หนี้ครัวเรือนของมาเลเซียเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 67% ขณะที่ไทยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 45% เป็น 68%

สำหรับมุมมองของเอดีบีในแต่ละประเภทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มที่บรูไน ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของบรูไนเติบโต 1.5% และ 2% ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ ขณะที่กัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวที่ 7% จากภาคการท่องเที่ยวและส่งออก ขณะที่ยอดเงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงเติบโต

ด้านอินโดนีเซียได้แรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัว การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแรง จะช่วย
ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียให้เติบโตต่อเนื่องที่ 5.3% ในปีนี้และปีถัดไป สำหรับมาเลเซีย เอดีบีคาดว่าจะขยายตัว 5.3% ในปีนี้ และเติบโต 5% ในปี 2562 ส่วนฟิลิปปินส์คาดว่าจะเติบโต 6.8% ในปีนี้ และ 6.9% ในปีถัดไป ส่วนสิงคโปร์อัตราการขยายตัวปีนี้อยู่ที่ 3%

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 6.8% จากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในปี 2562 เอดีบีคาดว่าลาวจะกลับมาขยายตัวที่ 7% ด้านเมียนมาคาดว่าเงินลงทุนจากต่างชาติจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการขยายตัวที่ 6.8% และ 7.2% ในปี 2562

สำหรับประเทศไทยเอดีบีคาดการณ์การเติบโตไว้ที่ 4% ในปีนี้ และคาดว่าในปี 2562 จะเติบโตสูงกว่า จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศและการส่งออกเป็นหลัก