posttoday

จับมือระดับภูมิภาค ป้องกันภัยไซเบอร์

24 กุมภาพันธ์ 2561

ภัยทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2560 ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และในปีนี้ภัยทางไซเบอร์ก็ยังมีแนวโน้มที่รุนแรง

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ภัยทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2560 ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และในปีนี้ภัยทางไซเบอร์ก็ยังมีแนวโน้มที่รุนแรง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งก็ล้วนสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศตระหนักถึงความสำคัญในการหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์

ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จึงได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและออสเตรเลีย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและออสเตรเลีย เกี่ยวกับกลไกและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และนำมาปรับใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี บอกว่า ปัญหาด้านภัยไซเบอร์เป็นประเด็นที่ทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียนต่างต้องเจอ จึงทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกในการเฝ้าระวังภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อเตรียมการรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นหลัก (ธีม) ของอาเซียนในปีนี้ที่จะเน้นด้านนวัตกรรม

“ปีนี้ประเทศไทยพูดถึงเองความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น โดยเบื้องต้นจะเน้นใน 6 ด้าน คือ โทรคมนาคม สาธารณสุข การเงิน พลังงาน บริการภาครัฐและอิเล็กทรอนิกส์ เพราะส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมผ่านมือถือ ทำให้พูดถึงเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อการดำเนินการมากขึ้น ส่งผลให้ต้องเร่งสร้างเครื่อข่ายให้กว้างขึ้น” พิเชฐ กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะเป็นการหารือร่วมกันในชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างเป็นแพลตฟอร์มระบบการป้องกันทางไซเบอร์ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เวลาเกิดเหตุขึ้นสามารถหาแนวทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านบุคลากร จึงทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนเลือกให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมบุคลากรด้านระบบไซเบอร์ โดยมีออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 6 และได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกประเทศที่มีเทคโนโลยีความก้าวหน้าด้านระบบคอมพิวเตอร์

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและออสเตรเลีย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและออสเตรเลียเกี่ยวกับกลไกและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรม แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติกลไกกำกับดูแลด้านไซเบอร์ และการรับมือกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับภูมิภาค รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ มาปรับใช้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

โทไบอัส ฟีคิน เอกอัครราชทูตด้านกิจการไซเบอร์ออสเตรเลีย บอกว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเรื่องที่เวลานี้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น โดยเฉพาะกระแสเรื่องเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) เข้ามา ปัญหาการโจรกรรมทางระบบไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ทำให้สร้างความเสียหายต่อภาพรวมระบบเศรษฐกิจส่งผลให้ต้องมีการเตรียมพร้อม เพื่อป้องกันและหาแนวทางสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศนั้นๆ ด้วย