posttoday

ธุรกิจเด่นเวียดนาม โอกาสลงทุน

21 กุมภาพันธ์ 2561

เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นประเทศเนื้อหอมในการดึงดูดการลงทุน มีองค์กรธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาลงทุนในกิจการต่างๆ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นประเทศเนื้อหอมในการดึงดูดการลงทุน มีองค์กรธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาลงทุนในกิจการต่างๆ โดย อุรีรัชต์ รัตนพฤกษ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ได้ให้ข้อมูลว่าธุรกิจที่เป็นดาวเด่นและมีความน่าสนใจในเวียดนามในขณะนี้ ล้วนเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาลงทุน

ธุรกิจดาวเด่นอันดับแรกเลยคือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะตลาดเครื่องดื่มของเวียดนามมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในปี 2560 ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีความต้องการบริโภคเครื่องดื่มประมาณ 8.16 หมื่นล้านลิตร และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.09 แสนล้านลิตร ภายในปี 2563 บริษัทวิจัยทางการตลาดคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2560-2565 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16% ต่อปี

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อและอี-คอมเมิร์ซ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโต เพราะชาวเวียดนามนิยมบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย ตามข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน A.T. Kearney และ IGD กล่าวว่า ในปี 2559 ธุรกิจค้าปลีกมีการเติบโต 10% มูลค่าการตลาดสูงถึง 1.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องกว่า 10% ในอีก 4 ปีข้างหน้า และภายในปี 2563 คาดว่าจะสูงถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตของร้านค้าสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมในเวียดนามระหว่างปี 2556-2559 สูงขึ้น 200% ทั้งนี้ในปี 2560 เวียดนามยังถูกจัดลำดับเป็นประเทศที่มีศักยภาพในตลาดค้าปลีกลำดับที่ 6 ของโลกด้วย

ตามด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในเวียดนาม เพราะมีแรงงานจำนวนมาก มีอัตราค่าจ้างที่แข่งขันได้ และได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากหลากหลายประเทศ โดยในปี 2559 เวียดนามส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่มเป็นลำดับ 5 ในโลก มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 2.83 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 2560 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะมีรายได้จากการส่งออก 3.13 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% โดยคิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ

ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเวียดนามให้การส่งเสริมและมีนักลงทุนรายใหญ่อย่างซัมซุง (Samsung) มาลงทุนและวางแผนตั้งให้เวียดนามเป็นฐานผลิตใหญ่ โดยยูโรมอนิเตอร์คาดการณ์ขนาดตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของเวียดนามในปี 2562 จะเติบโตขึ้น 29% จากปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 2,931 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์และการควบรวมกิจการ (M&A) ก็มีการเติบโตสูงและเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในเวียดนาม เพราะรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายสนับสนุนการถอนคืนหุ้นจากรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนโดยภาครัฐ ตลอด 10 ปีมานี้ ในเวียดนามมีการจดทะเบียนแฟรนไชส์ประมาณ 200 รายการ บริษัทต่างๆ เช่น McDonald's, Lotteria, Gloria Jean's Coffees และ 7-Eleven ได้ปรากฏตัวในเวียดนามผ่านการขายแฟรนไชส์ ซึ่งทำให้เครื่องหมายการค้าของบริษัทเหล่านี้พัฒนาอย่างเข้มแข็งในตลาดที่มีประชากรมากถึง 90 ล้านคน

สุดท้ายคือธุรกิจการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เวียดนามมีทรัพยากรทางการเกษตรจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเปรียบดังอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ แต่เกษตรกรในพื้นที่ยังขาดเงินลงทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งนักลงทุนไทยมีข้อได้เปรียบ เนื่องมาจากมีวิถีชีวิตการทำการเกษตรคล้ายคลึงกัน

"ที่สำคัญควรศึกษาตลาดให้ชัดเจน ใช้ความระมัดระวังในการเลือกหุ้นส่วน รวมทั้งการทำสัญญาต่างๆ ด้วยความรอบคอบรัดกุม ให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา ศึกษาตลาดแรงงานและกฎหมายแรงงานของเวียดนามอย่างละเอียด" อุรีรัชต์ กล่าวย้ำทิ้งท้าย