posttoday

เยือนถิ่น ‘มัณฑะเลย์’ จุดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่

13 กันยายน 2560

จากโครงการ "มัณฑะเลย์ ซูเปอร์เกตเวย์ โอกาสการค้าการลงทุน" เปิดประตูการค้าสู่จีน-อินเดีย ณ เมือง มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

จากโครงการ "มัณฑะเลย์ ซูเปอร์เกตเวย์ โอกาสการค้าการลงทุน" เปิดประตูการค้าสู่จีน-อินเดีย ณ เมือง มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย. 2560 จัดโดยบริษัท บางกอก โพสต์ และบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (เอพีเอ็ม) พร้อมนำคณะนักธุรกิจจากส่วนกลางและท้องถิ่นเข้าร่วมลงพื้นที่จริงในสวนอุตสาหกรรมโมตา พร้อมเยี่ยมชมสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในเมืองมัณฑะเลย์

ต้องบอกว่า มัณฑะเลย์วันนี้มีศักยภาพและความพร้อมรองรับการลงทุนจากต่างชาติในทุกๆ ด้าน ทั้งสาธารณูปโภค ที่ดิน สิทธิประโยชน์และแรงงาน ขณะที่โครงการสวนอุตสาหกรรมโมตายังมีแผนที่จะ พัฒนาท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัย ซึ่งผ่านการอนุมัติด้านการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (เอ็มไอซี) ไปเมื่อปี 2555 ส่งผลให้ "มัณฑะเลย์" ครองตำแหน่งเมืองศูนย์กลางด้านการขนส่งและกระจายสินค้าสำคัญของประเทศ

จากจุดเด่นด้านยุทธศาสตร์ทำเลที่ตั้งและเป็นเมืองรองทางเศรษฐกิจที่สำคัญนอกจากนี้ มัณฑะเลย์ยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญทางตอนเหนือ และยังเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมใหญ่อันดับ 2 ของประเทศเมียนมาอีกด้วย จากทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ของมัณฑะเลย์ที่มีศักยภาพในการทำ การค้า (เทรดดิ้ง) เพราะอยู่ใกล้ทั้งไทย จีน อินเดีย และอยู่ใกล้กับเนย์ปิดอว์

อ่อง แตน ประธานหอการค้า มัณฑะเลย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มัณฑะเลย์มีพื้นที่ทั้งหมด 3.79 หมื่นตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 7 เขต 30 เมือง และมีประชากรเพียง 7.32 ล้านคน มีสัดส่วนคนทำงานประมาณ 68% อายุอยู่ระหว่าง 18-64 ปี และมีอัตราการรู้หนังสือถึง 94%

สำหรับขนาดเศรษฐกิจของ มัณฑะเลย์ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15% ของจีดีพีประเทศ ประชากรมี รายได้ต่อหัวเฉลี่ย 1,528 ดอลลาร์ ขณะที่การค้าชายแดนเมียนมา-อินเดีย ระหว่างปี 2555-2556 อยู่ที่ 1,300 ล้านดอลลาร์ และเมียนมา-จีนอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์

การเชื่อมโยงการขนส่งคมนาคมนั้น มัณฑะเลย์ถือเป็นศูนย์กลาง เส้นทางอาเซียน (อาเซียน ไฮเวย์ ฮับ) เส้นทาง AH-1 AH-2 AH-14 และ ยังเป็นศูนย์กลางเส้นทางรถไฟสายทรานส์ อาเซียน มีสนามบินนานาชาติ และยังมีแผนที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก ใหม่เพิ่มอีก 2 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่ง และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ น่าสนใจ เช่น พระราชวังมัณฑะเลย์

ด้านตัวแทนนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในเมียนมา บอกว่า ธุรกิจที่น่าสนใจในมัณฑะเลย์ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรแปรรูป ยังขาดเทคโนโลยีใน การแปรรูป จึงน่าจะเป็นโอกาสของ ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม เอสเอ็มอี เพราะราคาที่ดินที่มัณฑะเลย์ยังไม่แพง อยู่ที่ 1 แสนบาท/เอเคอร์

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิต ยังต่ำกว่าการลงทุนในย่างกุ้ง และธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ต่อเนื่องทั้งหลาย เช่น โรงแรม ร้าน อาหารและสปา โดยเห็นได้ว่าร้านอาหารที่มาเปิดในมัณฑะเลย์มีหลากหลาย ทั้งกลุ่มอาหารปิ้งย่าง (ฮอตพอต) อาหารจีน อาหารไทย ร้านพิซซ่า ร้านอาหารพื้นเมืองและร้านเบเกอรี่มีราคาไม่ถูกมากนัก สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของชาวมัณฑะเลย์ว่ามีอยู่มาก และพร้อมที่จะใช้จ่าย