posttoday

ตลาดอาเซียน 4.0 จุดยืนต้องมีมุ่งโกออนไลน์

24 สิงหาคม 2560

ในโอกาสที่เดือน ส.ค. ในปีนี้ ครบรอบวาระ 50 ปีอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เชิญกูรูมาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ ถึงเทคนิคการทำธุรกิจในตลาดอาเซียนให้ประสบความสำเร็จ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ในโอกาสที่เดือน ส.ค. ในปีนี้ ครบรอบวาระ 50 ปีอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เชิญกูรูมาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ ถึงเทคนิคการทำธุรกิจในตลาดอาเซียนให้ประสบความสำเร็จ

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น บอกว่า โลกการค้าในอนาคตการแข่งขันจะมีสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการของตัวเอง ที่สำคัญจะต้องมีวิธีการสื่อสารด้านการตลาดเพื่อให้สินค้าและบริการนั้นๆ น่าสนใจ มีจุดขายที่โดดเด่น รวมทั้งให้ความสนใจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเทรนด์ในการประกอบธุรกิจของโลก

นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) และการคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่เข้าสู่สังคมเมือง พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการทำการตลาดและธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

"ในอนาคตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ต้องประกอบธุรกิจที่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและไม่ตกเทรนด์" สุวรรณชัย กล่าว

วีระ เจียรนัยพานิชย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาดลูกค้าผู้ประกอบการ สายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่าในอนาคตธุรกิจที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักจะค่อยๆ หายไป เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ถูกพัฒนาให้นำไปใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น หลายธุรกิจอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น อูเบอร์ ที่ดำเนินธุรกิจรถแท็กซี่ แต่ไม่มีแท็กซี่เป็นของตัวเอง airbnb ผู้ประกอบการธุรกิจด้านที่พักรายใหญ่ที่สุด แต่ไม่มีการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง อาลีบาบา ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่ใหญ่ระดับโลกแต่ไม่มีสินค้าคงคลัง หรือโกดังเก็บสินค้าเอง

"ในโลกการค้ายุคใหม่ต้องมีจุดยืน ถ้าไม่มีจะอยู่ไม่ได้ (นาน) เน้นการทำตลาดที่มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้สินค้าบริการเป็นที่จดจำผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้สี เสียง ราคา และกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในระยะหลังๆ ผู้ประกอบการจะหันมาทำธุรกิจที่สร้างสรรค์นำเทคโนโลยีมาใช้ โดย 3 กลุ่มลูกค้าหลักที่มีพลังในการซื้อซึ่งผู้ประกอบการต้องทำตลาดให้ได้ คือ กลุ่มเด็กและวัยรุ่น กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มชาวเน็ตทั้งหลาย" วีระ กล่าว

นอกจากนั้น ยังต้องสร้างความจดจำให้กับสินค้าและบริการด้วยวิธีการนี้มากขึ้นๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการของตนเองเพื่อนำไปสู่การจดจำ ความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสินคัาและบริการนั้นๆ มากขึ้น และจะนำไปสู่การซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งการบอกต่อๆ กันไป หรือการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะการแชร์ผ่าน โซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งต่อไปสิ่งเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

สำหรับการทำตลาดในอาเซียน ไทย เมียนมา และ สปป.ลาว ส่วนใหญ่ยังมีการเสพสื่อจากไทยเป็นหลัก ทำให้การทำตลาดไม่แตกต่างจากในประเทศมากนัก แต่การทำตลาดผ่านระบบออนไลน์ก็จะเป็นตัวช่วยดึงลูกค้า และทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นโดยธุรกิจที่มีโอกาสและมาแรงในอาเซียนตอนนี้เป็นกลุ่มอาหาร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ซึ่งเริ่มจากการขายตรง หรือหาตัวแทนจำหน่ายชายแดนให้นำร่องทำตลาดเข้าไปให้ก่อน จนมีวอลุ่มมากพอค่อยเข้าไปลงทุนเอง

ขณะที่เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ไม่เก่งในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ แม้กระทั่งตลาดเพื่อนบ้านอาเซียน จึงทำให้ไม่มั่นใจและไม่กล้าตัดสินใจออกไปลงทุน ซึ่งมองว่าในเมียนมาและเวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะกำลังโตและมีการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งการตลาดในอนาคตจะง่ายขึ้น เพราะสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ แต่การแข่งขันจะสูงขึ้น

ทำให้เจ้าของสินค้าและบริการต้องโฟกัสจุดแข็งของสินค้าตัวเองให้ดี