posttoday

ไทยร่วมมาตรการ OECD ป้องกันการเลี่ยงภาษี

08 มิถุนายน 2560

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการเข้าร่วมโครงการ Base Erosion and Profit Shifting Project (BEPS Project)

โดย...เบญจมาศ กุลกัตติมาส กรรมการบริหารเคพีเอ็มจี ประเทศไทย [email protected]

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการเข้าร่วมโครงการ Base Erosion and Profit Shifting Project (BEPS Project) ขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)) ในฐานะประเทศสมาชิก ภายใต้กรอบความร่วมมือ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ อาจมีคำถามว่า BEPS Project คืออะไร และจะมีผลกับผู้เสียภาษีอย่างไร

BEPS Project ริเริ่มในปี 2556 โดยประเทศสมาชิกในกลุ่ม OECD เกิดจากการที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนาพบว่าต้องสูญเสียรายได้ภาษีจากการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ สาเหตุหนึ่งมาจากการที่บริษัทข้ามชาติใช้ช่องว่างของกฎหมาย อันเนื่องมาจากกฎหมายที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศทำให้เกิดการโยกย้ายรายได้ หรือกำไรผ่านการวางแผนภาษีที่อาจทำให้เสียภาษีน้อยในประเทศที่มีอัตราสูงหรืออาจทำให้ไม่เสียภาษีในประเทศใดเลย

ประเทศสมาชิกในกลุ่ม OECD จึงได้ร่วมหารือกันเพื่อดำเนินการหามาตรการป้องกันการวางแผนภาษีที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่าหรือที่เรียกว่า BEPS ซึ่งต่อมาในเดือน ต.ค. 2558 กลุ่มประเทศเหล่านี้ตกลงกันออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ BEPS รวม 15 ปฏิบัติการ รวมทั้งได้จัดทำและเผยแพร่รายงานข้อเสนอแนะของปฏิบัติการเพื่อป้องกัน BEPS ครอบคลุมตั้งแต่มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี มาตรการเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้มาตรการ BEPS ยังได้รับความเห็นชอบจากประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ จี20 ด้วย ทำให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD แต่อยู่ในกลุ่ม จี20 ยอมรับที่จะร่วมพันธกรณีในมาตรการ BEPS ด้วยเช่นกัน

ในกลุ่มอาเซียนไม่มีประเทศใดในอาเซียนเป็นสมาชิกใน OECD เลย ขณะที่มีเพียงอินโดนีเซียที่เป็นสมาชิกกลุ่ม จี20 ดังนั้นในอาเซียนจึงมีอินโดนีเซียที่เข้าร่วมพันธกรณีในฐานะสมาชิกในกลุ่ม จี20 จากรายงานของกระทรวงการคลัง ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับ คือ ช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระดับนานาชาติ จากเดิมไทยจะเป็นผู้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด เป็นประเทศผู้เข้าร่วมกับ OECD ที่มีสิทธิเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม จี20 และ OECD ในการกำหนดมาตรฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการป้องกันการเกิด BEPS อย่างเสมอภาค และเป็นการส่งเสริมให้ไทยมีมาตรการเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล Country-by- Country Report ซึ่งเป็นข้อมูลของบริษัทข้ามชาติเกี่ยวกับการแบ่งเงินได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และภาษีที่จ่ายไปในแต่ละประเทศที่บริษัทในเครือตั้งอยู่ ทำให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในการวางแผนเพื่อหลบเลี่ยงภาษีในเบื้องต้นของกลุ่มบริษัทข้ามชาติดังกล่าว

แผนปฏิบัติการ BEPS มีทั้งหมด 15 ปฏิบัติการ ซึ่งอาจจะสรุปสาระของแผนปฏิบัติการได้สี่เรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องที่หนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับธุรกรรม ดิจิทัล อีโคโนมี ซึ่งทราบว่ากรมสรรพากรกำลังศึกษาเพื่อหามาตรการจัดเก็บภาษีโดยเฉพาะการค้าขายข้ามชาติซึ่งในปัจจุบันกฎหมายไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เรื่องที่สอง เป็นเรื่องมาตรการการป้องกันการวางแผนภาษีที่ใช้ข้อกฎหมายที่แตกต่าง ของแต่ละประเทศเพื่อการโอนถ่ายกำไร ซึ่งไทยยังไม่มีในเรื่องเหล่านี้

เรื่องที่สามคือ การให้มีความโปร่งใส และมาตราในการตกลงกรณีมีข้อพิพาท เช่น เสนอให้ผู้เสียภาษีต้องมีการรายงานการวางแผนภาษี ที่ถือว่าเป็น  Aggressive Tax Planning และศึกษาอุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการแก้ปัญหาผ่าน MAP (Mutual Agreement Procedures-เป็นขั้นตอนที่ให้มีการทำความตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสองประเทศเพื่อแก้ปัญหาภาษีที่กระทบทั้งสองประเทศ) 

เรื่องที่สี่คือการเพิ่มมาตรการเรื่องการป้องกันราคาโอน (Transfer Pricing) เช่นจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับ Transfer Pricing  เรื่องการจัดทำเอกสารราคาโอน เรื่องของการให้มีการรายงานรายการระหว่างกัน ในรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งรวมถึง Country-by-Country Report ที่กล่าวถึงข้างต้น ในเรื่องการป้องกันราคาโอน ปัจจุบันไทยได้มีร่างกฎหมายราคาโอนแล้วที่กำลังรอออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ตามร่างกฎหมายราคาโอนของไทยกิจการที่มีรายการระหว่างกันจะต้องมีการจัดทำเอกสารราคาโอนเพื่อนำส่งกรมสรรพากรซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึง Country-By-Country Report

ทั้งนี้ การเข้าร่วมของไทยใน BEPS Project นอกจากจะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระดับนานาชาติแล้วยังสอดรับกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปภาษีของรัฐเพื่อขยายฐานภาษีรายได้อย่างยั่งยืน