posttoday

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของกลุ่มประเทศ CLMV

26 พฤษภาคม 2565

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

ประเทศไทยมีนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา และในปี 2559ได้มีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติระยะเวลา 10 ปี เริ่มต้นในปี 2559-2568 โดยวางเป้าหมาย 4ผลผลิตหลัก ได้แก่

1. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) 3. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และ 4. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

ประกอบกับไทยมีความพร้อมด้านสถานพยาบาลและบุคลการเป็นอย่างดี ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI จำนวนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีส่วนส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ขยายตัวเป็นอย่างมากทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้าประเทศ

โครงสร้างตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หลัก เช่น ผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์โดยเฉพาะ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการบำบัดโดยตรง (Medical Tourism)

และกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์รองประกอบด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ระดับบนชาวไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม

เนื่องจากมีความสะดวกในการเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศเพราะมีชายแดนติดต่อกับไทย ผู้คนในพื้นที่ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน CLMV มีการติดต่อค้าขายและเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามแดนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งประชากรของประเทศเพื่อนบ้านยังข้ามแดนเพื่อมารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนฝั่งไทย เช่นกัน

อย่างไรก็ดี บางส่วนไม่มีเงินรักษาและโรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรต่างด้าว

โดยข้อมูลจากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรต่างด้าวสูงที่สุดใน 5 ลำดับแรกในปีงบประมาณ 2558 คือ ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย และเชียงราย

ทั้งนี้ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากประชากรต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ 37.8 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าวทั้งหมด

ส่งผลให้จังหวัดชายแดนโดยเฉพาะโรงพยาบาลบริเวณชายแดนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าว

กรณีที่โรงพยาบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายตามหลักมนุษยธรรม ประเทศไทยควรพิจารณาแนวทางเพิ่มเติม ในการแก้ปัญหาโดยการคัดกรองด้านสิทธิค่ารักษาให้มีความรัดกุมพร้อมกับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกรณีเป็นผู้ป่วยต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศเพื่อให้มีหลักประกันสุขภาพเมื่อมาใช้บริการ

ส่วนกรณีที่ต้องให้การสงเคราะห์ผู้ป่วยชาวต่างด้าวควรหาแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกองทุนประกันสุขภาพระหว่างประเทศมีระบบการทำประกันให้ครอบคลุมกรณีผ่านข้ามแดนทั้งด่านถาวรและจุดผ่อนปรนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบประกันสุขภาพเพื่อลดผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น

และควรเร่งจัดตั้ง “กองทุน รักษาพยาบาลคนไร้สิทธิ” ตามข้อเสนอขององค์กร NGO เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบส่วนกรณีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาล หรือบริการทางการแพทย์ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จำเป็นต้องแยกพิจารณาออกจากการให้บริการทางการแพทย์แบบสงเคราะห์ตามหลักมนุษยธรรมต่อผู้ป่วยข้ามแดน

ควรตั้งแผนกผู้ป่วยต่างด้าวขึ้นในโรงพยาบาลรัฐที่มีศักยภาพเพื่อลดผลกระทบด้านการเงินและจัดการส่วนรั่วไหลอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ภาครัฐต้องตระหนัก ได้แก่ ควบคุมกำกับอัตราค่าบริการให้เหมาะสมและเป็นธรรม

เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบด้านราคาและคุณภาพจากกลุ่มผู้ป่วยข้ามแดนเพื่อจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศ

รายละเอียดสามารถอ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ www.itd.or.th