posttoday

ความร่วมมือด้านเกษตรกัมพูชา-ไทย ภายใต้ ACMECS

24 มีนาคม 2565

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

ผลการศึกษาวิจัยของ ITD เรื่อง การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) สู่ความยั่งยืน ได้เสนอแนะปัจจัยการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัมพูชา-ไทย

ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เพื่อความยั่งยืน ดังนี้

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค ประกอบด้วย 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดน อำนวยความสะดวกทางการค้า ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกสร้างการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน และส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวม

ทั้งนี้ ACMECS มีความร่วมมือทั้งหมด 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งระหว่างกัมพูชาและไทย กัมพูชามีพื้นที่ติดกับไทย 7 จังหวัด ได้แก่ ทิศเหนือ ติดกับอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ทิศตะวันตก ติดกับสระแก้ว จันทบุรี และตราด มีระยะทางยาวรวมกันประมาณ 798 กิโลเมตร มีด่านศุลกากร 4 ด่าน คือ ด่านศุลกากรช่องจอม อรัญประเทศคลองใหญ่ และด่านศุลกากรจันทบุรี มีจุดผ่านแดนถาวร 6 จุด และจุดผ่อนปรนการค้า 9 จุด

ซึ่งทำให้การค้าชายแดนกัมพูชา-ไทย มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากความสะดวกรวดเร็วของการขนส่งสินค้า และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรด้วยระบบ E-Customs

การดำเนินงานระหว่างกัมพูชา-ไทยภายใต้กรอบ ACMECS เปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกรวมถึงองค์กรระหว่างเทศเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา (Development Partner) การสนับสนุนความร่วมมือเชิงเทคนิค หรือให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป และไทยมีบทบาทในฐานะผู้ให้กัมพูชา ผ่านโครงการความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ)

โดยมีการจัดตั้งสำนักงานความร่มมือเพื่อพัฒนาระหว่างประเทศ ดังนั้นกรอบ ACMECS ไทยจึงเป็นเวทีเปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้รับความช่วยเหลือเป็นประเทศผู้ให้ใหม่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือกัมพูชา-ไทย ภายใต้กรอบ ACMECS กัมพูชาและไทยได้สร้างความร่วมมือ ระหว่างกันผ่านกรอบความร่วมมือหลายด้าน เช่น GMS และ ASEAN ซึ่งเป็นความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เห็นชัดเจนมากคือกรอบ ACMECS

ทั้งกัมพูชาและไทยใช้ศักยภาพของตนเองภายใต้การเป็นสมาชิก GMS และ ASEAN ในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยกรอบ ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งและความหลากหลายของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล

ประเด็นสำคัญในความร่วมมือระหว่างกัมพูชา-ไทย ภายใต้กรอบ ACMECS ได้แก่

(1) ไทยมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใจกลางกลุ่มประเทศสมาชิก ACMECS มีพรมแดนติดกับทุกประเทศยกเว้นเวียดนาม ไทยจึงมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง ในอนุภูมิภาค ACMECS สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้จัดทำกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ปี 2558-2577) ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ มีการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการสร้างเครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศกับกัมพูชา

(2) ความร่วมมือกัมพูชา-ไทยด้านการเชื่อมโยงภายใต้กรอบ ACMECS สอดคล้องกับแผนแม่บทระยะ 5 ปี (ปี 2562-2566) จากการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ACMECS ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพฯ กำหนดวิสัยทัศน์ในการ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี 2566”

โดยมีเป้าหมายการเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาคโดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านเส้นทางคมนาคมขนส่ง และทางด้านดิจิทัล รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านพลังงาน โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงดิจิทัลเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ทั้งนี้สำหรับการลงทุนด้านเกษตรของไทยใน ACMECS มีรูปแบบการเกษตรแบบมีสัญญา เพื่อทำการเพาะปลูกและรับซื้อพืชผลทางการเกษตรที่ผลิตได้กลับมาแปรรูปที่ไทย หรือรับซื้อเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม และการลงทุนการขอรับสัมปทานจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกจากรัฐบาล

นอกจากนี้ไทยยังได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษของกัมพูชาในสถานะประเทศด้อยพัฒนา (Least Developed Countries: LDCs) และไทยให้สิทธิพิเศษสำหรับสินค้าเกษตรกัมพูชา อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 รวม 10 รายการคือ ถั่วลิสง ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวโพดหวาน มันฝรั่ง มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ละหุ่ง และไม้ยูคาลิปตัส และลดอากรนำเข้าเหลืออัตราร้อยละ 0-5

สำหรับสินค้ากัมพูชาอีก 340 รายการ มีการจัดตั้ง ACMECS Business Council การศึกษาการจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกกับการศึกษา การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในกัมพูชา รวมทั้งการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการของกัมพูชา การเกษตรแบบมีสัญญาเป็นโครงการที่มีการดำเนินการโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลเข้าไปใช้ที่ดินและแรงงานในพื้นที่เพื่อทำการผลิตและรับซื้อสินค้าเกษตร และได้ส่งกลับเข้ามายังไทยและได้รับการยกเว้นจากหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง

ความร่วมมือกัมพูชา-ไทยด้านเกษตรแบบมีสัญญามีลักษณะการเข้าไปใช้ทรัพยากร ได้แก่ ที่ดิน และแรงงาน เพื่อทําการผลิตและรับซื้อสินค้าเกษตรในกัมพูชาและส่งสินค้ากลับมายังไทย ประเทศคู่สัญญาในกลุ่ม ACMECS ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้โครงการการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน

กัมพูชาได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเกษตรแบบมีสัญญากับไทยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ณ กรุงพนมเปญ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการของไทยในการนำเข้าสินค้าเกษตรเป้าหมาย ซึ่งไทยผลิตไม่เพียงพอ และมีนโยบายส่งเสริมให้ไปปลูกในกัมพูชาเพื่อให้ไทยมีความมั่นคงในเรื่องผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบ มีมันสำปะหลัง เมล็ดมะม่วงพิมพานต์ และมะม่วงสด เป็นต้น

โดยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีจะเป็นไปตามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน ที่ไทยมีพันธกรณีไว้แล้วภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนโดยทั้งสองประเทศยังคงสามารถคงสิทธิในการใช้มาตรการภายในประเทศได้ ความร่วมมือของทั้งสองประเทศได้มีการปรับตัวในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมให้สอดคล้องรองรับกับมาตรฐานสากลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ สหประชาชาติ (UN) ในช่วงปี 2558-2573 เป็นเวลา 15 ปี

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างกัมพูชาและไทยถูกกำหนดให้เป็นไปในลักษณะของความยั่งยืนซึ่งอยู่ภายใต้เสาที่ 3 คือ “การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม” ของ ACMECS Master Plan (ปี 2562-2566) โดยทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือในรูปแบบทวิภาคี เช่น

(1) โครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยพนมเปญ และมหาวิทยาลัยพระตะบอง

(2) โครงการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกัมพูชา-ไทย ปี 2559 ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานกัมพูชา-ไทย

(3) โครงการจัดตั้งศูนย์แรกรับเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มเสี่ยง ณ ปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย

(4) โครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรปลูกผัก และผลไม้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรของกัมพูชา และ

(5) โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการค้าหัตถกรรมเป็นแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนากัมพูชาและไทยเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้านเกษตร สาธารณสุข การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการศึกษาระหว่างสองประเทศ