posttoday

สำรวจแนวทางรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของสิงคโปร์

19 สิงหาคม 2564

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

World Economic Forum ได้นิยามการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไว้ว่า

“... การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นการต่อยอดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ซึ่งมีรากฐานจากการปฏิวัติดิจิทัลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมา การผสมผสานของเทคโนโลยีซึ่งส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างลักษณะทางกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพเริ่มผสมผสานกัน …. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังวิวัฒนาการขึ้นแบบทวีคูณ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสร้างผลกระทบต่อแทบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างเฉียบพลัน (disrupt) และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการผลิต การจัดการของเอกชน และการกำกับดูแลของรัฐบาล…”

ขณะที่องค์การสหประชาชาติ เผยว่า การเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ และการขนส่ง ก่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ (new business model) และการเกิดขึ้นของธุรกิจ start-up จำนวนมหาศาลที่จะได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ และอาจได้รับประโยชน์มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่

ดังนั้น ลักษณะของงานในอนาคตจะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะที่แปลกใหม่ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างทันท่วงทีเนื่องจากภาคการผลิตจะเป็นลักษณะห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก (Global Value Chain) ที่จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีวัสดุใหม่ ๆ ที่จะสามารถสร้างผลผลิตในปริมาณที่สูงขึ้นแต่ลดต้นทุนได้ยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ จากผลการสำรวจทั่วโลก พบว่าประเทศผู้ผลิต (supply country) เทคโนโลยีขั้นสูงยังมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้รับเทคโนโลยีไปใช้ (adopt country) ซึ่งยังมีสัดส่วนไม่มาก

จึงเกิดช่องว่างระหว่างประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี ประเทศผู้รับเทคโนโลยีไปใช้ และประเทศที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้บทบาทของภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกสำหรับอาเซียนนั้น จากรายงานของ World Economic Forum ได้ประเมินว่าประเทศสิงคโปร์มีระดับความพร้อมรองกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากที่สุดในอาเซียน

โดยผลการศึกษาวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) พบว่า การเตรียมพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของประเทศสิงคโปร์เป็นการดำเนินงานคู่ขนานระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ดังปรากฏแนวทางการปรับตัวที่สำคัญดังต่อไปนี้บทบาทการปรับตัวของภาครัฐรัฐบาลสิงคโปร์ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการวางโครงพื้นฐาน การวิจัย และการพัฒนา รองรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น

เพื่อให้ประเทศสิงคโปร์สามารถยกระดับเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี และอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้อย่างเท่าทัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า “AI Singapore” เพื่อดำเนินภารกิจด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยทุ่มงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับการดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ ยังจัดสรรงบประมาณกว่า 40 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 5G เพื่อพัฒนาประเทศสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ขณะที่ Monetary Authority of Singapore (MAS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินได้ทุ่มงบประมาณกว่า 225 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology – Fintech) ให้มีประสิทธิภาพภายใน 5 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีแผนการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยทุ่มงบประมาณในการส่งเสริมการพัฒนานัก Data Scientists กว่า 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในด้านการให้บริการประชาชน รัฐบาลสิงคโปร์ได้พัฒนาเว็ปไซต์ Gov.sg ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนและมีระบบ Chatbot ที่สามารถให้บริการประชาชนได้ตลอดเวลาและรองรับการใช้บริการครั้งละจำนวนมากได้

รวมถึงการพัฒนาระบบการชำระเงินผ่าน QR code แบบครบวงจรเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วบทบาทการปรับตัวของภาคเอกชนภาคธุรกิจที่มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่โดดเด่นในประเทศสิงคโปร์คือภาคการเงิน ธนาคารหลายแห่งได้พัฒนาระบบ Big Data เพื่อให้บริการลูกค้าในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศสิงคโปร์ยังมีผู้ประกอบการ Start-up ที่ให้บริการด้านธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence)

โดยการรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจ และประมวลผลเป็นรายงาน พร้อมการคำนวณผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำเพื่อประกอบการตัดสินใจของลูกค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับตัวของภาครัฐและเอกชนของสิงคโปร์เป็นกรณีศึกษาถึงการตระหนักถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงจาการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลกซึ่งกำลังเกิดวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วและสร้างผลกระทบอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น การปรับตัวของรัฐบาลและภาคเอกชนของประเทศสิงคโปร์ได้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้

จากการทุ่มงบประมาณมหาศาลในการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับบทบาทของภาคเอกชนที่ร่วมคิดค้นนวัตกรรมการให้บริการทางเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงทีการวางแผนและเตรียมการรับมือแต่เนิ่น ๆ ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศสิงคโปร์ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น

แต่ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดียิ่งท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิต โครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้