posttoday

มิติสังคม-วัฒนธรรมกับการค้าและการลงทุนใน BIMSTEC

18 มิถุนายน 2564

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

กรอบความร่วมมือบิมสเทค (BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริเริ่มโดยไทยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย เมียนมา เนปาล และภูฏานเพื่อต้องการให้อนุภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจบิมสเทคเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มีสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันประเทศสมาชิกต่างตื่นตัวในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ มีจำนวนประชากรมากจึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อ และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์บิมสเทคเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและน่าดึงดูด

แต่อุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้การค้าและการลงทุนตลอดจนความร่วมมือในด้านอื่นไม่รุดหน้าไปเท่าที่ควรนั้นส่วนหนึ่งเกิดมาจากความไม่เข้าใจและนำไปสู่การแบ่งแยกจากความเชื่อผิดๆ ซึ่งนักธุรกิจและนักลงทุนไทยต้องเข้าใจถึงปัจจัยทางด้านสังคม-วัฒนธรรมที่มีนัยสำคัญต่อการค้าและการลงทุนในกลุ่มบิมสเทคการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศบิมสเทคควรมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการได้ตระหนักและเข้าใจถึงปัจจัยที่จะส่งผลต่อการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม

โดยเฉพาะปัจจัยด้านจิตวิทยาวัฒนธรรมที่จะส่งผลต่อการรวมกลุ่ม ประสานประโยชน์ และการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในฐานะกลุ่มประเทศสมาชิกบิมสเทคปัจจัยด้านจิตวิทยาวัฒนธรรม หรือรูปแบบการคิดและรับรู้ที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากกว่ารวมกลุ่มอาจเป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์สมัยใหม่ที่แบ่งแยกกลุ่มประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงบริบทของการแบ่งแยกในทางประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตามหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์จะพบว่าชุมชนรอบอ่าวเบงกอลนั้นเชื่อมต่อเป็นภูมิภาคเดียวกันมาอย่างยาวนานทั้งในด้านการค้า การย้ายถิ่นและภูมิศาสตร์ มีความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งซึ่งหากปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดจะทำให้สามารถสื่อสารกันอย่างเข้าใจและประสานได้มากขึ้น

สัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้ผู้คนในภูมิภาคนี้ไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกัน ก็คือเส้นแบ่งพรมแดนประเทศและการขาดเส้นทางเดินทางเชื่อมต่อกัน แต่ถ้ามองข้ามเส้นแบ่งพรมแดนที่ถูกขีดโดยเจ้าอาณานิคมและการเมืองยุคสงครามเย็นก็จะเห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คนข้ามพรมแดนเส้นทางติดต่อค้าขายและเคลื่อนย้ายถิ่นของผู้คนที่มีมาแต่โบราณ เส้นทางการเชื่อมต่อทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโครงการพัฒนาเชื่อมต่อมีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงสัญลักษณ์ที่อาจส่งผลถึงการพัฒนาในมิติอื่น

ทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศทัศนคติและความเห็นที่สำคัญในการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งคือต้องทำความรู้จักคนที่เราจะสื่อสารด้วยและไม่ตัดสินอย่างเหมารวมไปก่อนเนื่องจากแต่ละประเทศมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมการเข้าใจผู้คนและความคิดในทางธุรกิจรวมทั้งลักษณะเฉพาะ ย่อมจะทำให้เข้าใจและทำงานร่วมกันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การเรียนรู้ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและรูปแบบของการปะทะสังสรรค์ที่จะเอื้อให้การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเป็นไปอย่างราบรื่น เช่นมารยาทในการสื่อสารของแต่ละประเทศ มารยาทเกี่ยวกับอาหารการทำความเข้าใจภูมิภาคบิมสเทคในมิติสังคมวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เข้าใจผู้คนในภูมิภาคนี้ได้อย่างรอบด้าน ทั้งในฐานะคู่ค้า ผู้บริโภคและผู้ร่วมสร้างความอยู่ดีมีสุขของภูมิภาคนี้ร่วมกัน

ความเข้าใจดังกล่าว จะเอื้อประโยชน์ต่อการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมที่จะช่วยทำให้เราสามารถสื่อสารให้เข้าใจกัน มองเห็นอนาคตและแสวงหาข้อตกลงร่วมกันได้ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา(องค์การมหาชน) เรื่อง“การพัฒนานโยบายเพื่อการขยายผลการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาจากกรอบเขตการค้าเสรีบิมสเทคของประเทศไทย” ได้ที่ https://www.itd.or.th/data-center/research-report/