posttoday

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน

02 เมษายน 2564

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลถึงรูปแบบและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่หันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

พื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยึดโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศสะท้อนให้เห็นว่าการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลไม่จำกัดอยู่แค่บริบทของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นแต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาร่วมกัน

ปัจจัยด้านผู้ผลิต ผู้บริโภค สภาพแวดล้อมพื้นฐานในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัล และบทบาทภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญของประเทศในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 

การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจดิจิทัลส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ 3 ส่วนหลัก คือ ผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในทุกตำแหน่งของห่วงโซ่อุปทาน

ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และผลกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ความท้าทายจึงอยู่ที่การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเหมาะสมของประเทศ

การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคของอาเซียนอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นไปในลักษณะการทำงานร่วมกันประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำแผนแม่บทเป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือด้านไอซีทีในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN ICT Master Plan หรือ AIM)

ทั้งนี้ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ TELMIN แผนฉบับที่ 1 ปี 2554-2558 และแผนฉบับที่ 2 ปี 2559-2563 ประเทศสมาชิกได้รับรองปฏิญญาเสียมราฐซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ปฏิญญาดังกล่าวชี้ให้เห็นความสำคัญของการดำเนินการตามแผนแม่บท AIM 2020 เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงและการดำเนินงานร่วมกันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

อีกทั้งประเทศสมาชิกมีการจัดทำแผนแม่ด้านดิจิทัลร่วมกัน คือ ASEAN Digital Masterplan 2025 ซึ่งเป็นแผนระยะยาวเพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่ภูมิภาค นอกจากนี้ แผนแม่บท Master Plan on ASEAN Connectivity 2025 ก็ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงนวัตกรรมดิจิทัลอาเซียนอีกด้วย

ในการพัฒนาด้านไอซีทีและดิจิทัล อาเซียนได้จัดตั้ง ASEAN ICT Fund ซึ่งทุกประเทศสมาชิกอาเซียนสมทบเงินปีละ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ เป็นกองทุนดำเนินโครงการและกิจกรรมการพัฒนาไอซีทีในด้านต่างๆ อย่างคล่องตัวและรวดเร็ว และสนับสนุนโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ICT ในภูมิภาค โดยมีศูนย์ไอซีทีอาเซียน (ASEAN ICT Centre) ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและโครงการกิจกรรมต่างๆ ของอาเซียน ประสานงานความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม

นอกจากนั้นประเทศอาเซียนยังพัฒนาความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)

โดยความร่วมมือครอบคลุมด้านไอซีทีและดิจิทัลด้วย รวมไปถึงข้อตกลงการค้าเสรี อาทิ RCEP ที่มีข้อผูกพันในเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเสรีสินค้าดิจิทัลและจำกัดบทบาทของภาครัฐต่อการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล

ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและความร่วมมือระหว่างประเทศสะท้อนให้เห็นบทบาทของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะในระดับโลก ทุกประเทศจึงให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลและมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกันมากขึ้น

เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนและประเทศสมาชิก