posttoday

BRI กับอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทย-จีน

12 มีนาคม 2564

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ The Belt and Road Initiatives (BRI)โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นโครงการสร้างคมนาคมเชื่อมโยง 71 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา มีทั้งหมด 6 เส้นทาง ได้แก่ 1) จีน-คาบสมุทรอินโดจีน 2) จีน-บังกลาเทศ-เมียนมา-อินเดีย 3) จีน-ปากีสถาน 4) จีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก 5) เส้นทางยูเรเซีย 6) จีน-มองโกเลีย-รัสเซีย เส้นทาง BRI จึงครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีพื้นที่รวมกันประมาณร้อยละ 38.5 ของทั้งโลก มีประชากรร้อยละ 62.3 ของประชากรโลกทั้งหมด และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมเป็นร้อยละ 30 ของทั้งโลก

โครงการ BRI ถือเป็นนโยบายสำคัญของประเทศจีนในการขยายบทบาทและอิทธิพลไปทั่วโลก โดยการเป็นแกนนำในการสร้างความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ทั้งมิติการค้าและการลงทุนนอกจากนั้นประเทศจีนยังเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ ทั้งแง่ของการสนับสนุนเงินทุนด้วยโครงการ AIIB การผลักดันให้บริษัทจีนเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น และการให้ทรัพยากรในการสร้างเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ

ปัจจุบันไทยมีส่วนร่วมในโครงการ BRI ผ่านความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน (China-ASEAN Free Trade Area: CAFTA) และความร่วมมือด้านคมนาคม เช่น เส้นทางรถไฟคุณหมิงกับอาเซียนภายใต้โครงการ“รถไฟสิงคโปร์-คุณหมิง”

ประเทศจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการค้าร้อยละ 18 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย ประเทศจีนยังเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของประเทศไทย โดยไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังประเทศจีนเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ สินค้าประเภทเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ 

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนก่อนและหลังประเทศจีนเริ่มต้นโครงการ BRI พบว่า โครงการ BRI ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนร้อยละ 14.89 (โดยเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนที่ 69,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีก่อนประเทศจีนจะประกาศยุทธศาสตร์ BRIกับมูลค่าการค้าที่ 80,138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีหลังเริ่มต้น BRI มาแล้ว 5 ปี) ซึ่งถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ไม่สูงมากนักปัจจัยหนึ่งที่มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนไม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหรือมีนัยสำคัญ

เนื่องจากไทยยังเผชิญอุปสรรคด้านการค้าจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของจีน ที่มีความซับซ้อนเกินความจำเป็น อุปสรรคด้านการค้านี้ขัดต่อวัตถุประสงค์ในการริเริ่มโครงการ BRI เช่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและเพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน เป็นต้น

กรณีศึกษาจากการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนพบว่า ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต้องเผชิญข้อกำหนดโควตาภาษี (Tariff Rate Quota: TRQs) โดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาชาติ (NDRC)ของประเทศจีนจะกำหนดโควตานำเข้าข้าวหอมมะลิรวมในแต่ละปีและกำหนดให้รัฐวิสาหกิจด้านการค้าของประเทศจีนควบคุมการนำเข้าข้าวหอมมะลิร้อยละ 50

ส่วนเอกชนที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ได้ควบคุมการนำเข้าที่เหลืออีกร้อยละ 50 ภาษีนำเข้าข้าวหอมมะลิยังมีสองอัตรา ได้แก่ อัตรานำเข้าภายในโควตาจะอยู่ที่ร้อยละ 1 และอัตรานำเข้านอกโควตาจะอยู่ที่ร้อยละ 10 นอกจากนี้ ในบางปี NRDC อาจกำหนดโควตาการนำเข้าข้าวหอมมะลิแต่ละประเภทไม่เท่ากัน

ข้อกำหนดที่ให้ภาคเอกชนของประเทศจีนเฉพาะที่มีใบอนุญาตเท่านั้นจึงจะสามารถนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยต้องเผชิญอุปสรรคเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง คือ การหาคู่ค้าที่มีใบอนุญาต ซึ่งมีโควตาการนำเข้า

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกทุกรายยังต้องปฏิบัติตามมาตรการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับสินค้าธัญพืชนำเข้าและส่งออก (Administrative Measures of Inspection and Quarantine for Entry and Exit Grain)ซึ่งทำให้กระบวนการส่งออกเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกข้าวไทยยังต้องดำเนินตามข้อตกลงอีกหนึ่งข้อตกลง

“พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกข้าวจากไทยไปจีน” ซึ่งเป็นความตกลงระหว่าง AQSIS ของประเทศจีนและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งประเทศไทยกรณีศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การค้าขายบางรายการสินค้าของประเทศจีนมีความซับซ้อนในกระบวนการนำเข้า ซึ่งสร้างอุปสรรคที่สำคัญต่อผู้ส่งออกไทย ทั้งในแง่การเข้าถึงตลาดและต้นทุนด้านการค้าประเทศไทยซึ่งเข้าร่วมโครงการ BRI จึงอาจไม่ได้รับประโยชน์ทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมีอุปสรรคทางการค้าอื่นอีกหลายประการ

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวโดยการรักษาคุณภาพสินค้าให้ผ่านการตรวจสอบและมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้ง ควรมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบและกฎระเบียบต่างๆของประเทศจีน เพื่อวางแผนกลยุทธ์การส่งออก

นอกจากนี้ ควรริเริ่มเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศด้านมาตรการทางการค้าสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้ายิ่งขึ้น