posttoday

พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นตราดเชื่อมต่อกัมพูชา

15 ตุลาคม 2563

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

ITD ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้” ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้เป็นนโยบายหนึ่งของภูมิภาคในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของทั้งสองด้านทางตอนใต้ของภูมิภาค คือ พื้นที่ตั้งแต่เมียนมา ไปจนถึงเวียดนาม ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่เชื่อมต่อทางทะเลทั้งสองด้าน คือ จากมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก

โดยใช้การเชื่อมต่อทางถนนภายในพื้นที่ส่วนที่เป็นภาคพื้นดิน ทำให้ประเทศที่อยู่ภายใต้ขอบเขตนี้ได้รับประโยชน์ร่วมของการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคนี้ ได้แก่ เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

งานวิจัยนี้ได้ศึกษากรณีพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดตราดเชื่อมโยงกับประเทศกัมพูชา ผลการศึกษาพบว่า ตราดเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง ความเชื่อมโยงของตราดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง กัมพูชา ปัจจุบันมีจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ เป็นช่องทางการนำเข้าสินค้าจากกัมพูชาที่สำคัญ

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตโดยผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง เช่นชุดสายไฟรถยนต์สำเร็จรูป ยางในลูกบอล ฯลฯ และสินค้าในกลุ่มอาหารทะเลสดและแปรรูป ยอดการนำเข้าในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 2,881 ล้านบาท แต่มูลค่านี้อาจไม่กระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดตราดมากนัก เนื่องจากเป็นการค้าแบบผ่านแดนเพื่อขนส่งไปยังจังหวัดอื่นต่อไป

นอกจากนั้น เส้นทางนี้ยังมีศักยภาพของเส้นทางการท่องเที่ยวสาย R10 เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวซึ่งสามารถเดินทางไปได้ถึง พนมเปญ หรือเวียดนามตอนใต้ ในรูปแบบของ “One Market, Three Destination” โดยเชื่อมตราดเข้ากับโครงการดาราซากอร์ ในเกาะกง และหมู่เกาะฟูก๊วกเวียดนามด้วย นักท่องเที่ยวซึ่งเน้นกลุ่ม Hi-end สามารถเดินทางทางเรือเพื่อเชื่อมการเดินทาง 3 ประเทศได้ อาจมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น

โดยเฉพาะในรูปแบบของการเดินทางเป็นหมู่คณะ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กคือ ลักษณะทางกายภาพของด่านมีขนาดเล็ก เข้าออกลำบาก ถนนบางส่วนมีสภาพไม่ดีและมีเพียงสองช่องทาง ซึ่งเป็นอุปสรรคในช่วงที่มีความต้องการขนส่งหนาแน่น และมีอุปสรรค เช่น ไฟฟ้าที่ส่องสว่างไม่เต็มที่ในบางช่วง

การเดินทางของชาวกัมพูชา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อขายสินค้าในไทยที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการข้ามแดนที่ต้องใช้เอกสารมากและมีขั้นตอนยุ่งยาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของตราดที่ต้องเร่งแก้ไข อาทิ ขนาดพื้นที่ และ ทำเลที่ตั้ง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตราด ยังมีขนาดที่ไม่กว้างมากเมื่อเทียบกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ปัญหาด้านเงื่อนไขการลงทุนบางประการ เช่น กิจการศูนย์กลางสินค้าเกษตรจะต้องมีพื้นที่มากกว่า 50 ไร่

ศูนย์กระจายสินค้าระบบทันสมัย ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ล้วนเป็นข้อจำกัดในผู้ประกอบการขนาดกลางหรือเล็กในท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานชาวกัมพูชาในปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเกาะกง นิยมไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกงแทน รวมทั้งมีการจ้างงานเกิดขึ้นในเขตจังหวัดสีหนุวิลล์ และกัมพูชามากขึ้น จากการขยายตัวของการลงทุนโดยนักลงทุนจีน ปัญหาด้านที่ดินและระบบสาธารณูปโภคการประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีผลให้ราคาที่ดินบางส่วนปรับตัวสูงขึ้น

ในขณะที่พื้นที่เป้าหมายก็ยังไม่มีการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างระบบน้ำประปาและไฟฟ้าการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดตราดเชื่อมโยงกับประเทศกัมพูชาได้ ควรร่วมมือกันหลายฝ่ายและพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ การใช้โอกาสด้านการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) จังหวัดตราดให้เอื้อต่อการเกิดผลเชิงการกระจายรายได้ (spillover effects) ต่อประชาชนในตราดให้มากที่สุดเช่น เข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่คุณค่า (value chains)

ที่ยังขาดไปสำหรับตราดในอุตสาหกรรมการเกษตรหรือการท่องเที่ยว และทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการต้นน้ำในตราด ได้รับประโยชน์ร่วมด้วย การมีแรงจูงใจทางการเงิน เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับอุตสาหกรรม SMEs ในตราดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) การส่งเสริมการนำสินค้าที่ผลิตในตราดไปขายยังกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผลไม้ต่าง ๆ เนื้อสัตว์ และสินค้าประมง ซึ่งยังมีความต้องการซื้อจากกัมพูชาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหากมีการเปิดด่านท่าใหม่ในอนาคต

โดยเฉพาะสินค้าที่ตอบสนองความต้องการซื้อของชนชั้นกลางในกัมพูชาได้ เช่น สินค้าคุณภาพต่าง ๆ ฯลฯ การส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในตราดและพระตะบอง โพธิสัตว์ หรือแม้กระทั่งในพนมเปญ การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนในจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาและการลงทุนด้านเศรษฐกิจของจังหวัด

รวมถึงส่งเสริมพื้นที่การค้าการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการในตราด เช่นศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือพาณิชย์ พัฒนาธุรกิจโกดังกระจายสินค้า รวมทั้งมีห้องเย็นและห้องแช่แข็ง มีตลาดกลางสินค้าเกษตร จุดจำหน่ายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ชุมชนในตราด ผู้ประกอบการร้านอาหารและโฮมสเตย์ ให้มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว

การแสวงหาแนวทางร่วมกับกระทรวงการคลังหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดนโยบายบางประการซึ่งเป็นแรงจูงใจทางภาษีที่เหมาะสม เช่น การลดหย่อนเพื่อเอื้อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในจังหวัดมากขึ้น เช่น สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้รับการประเมินความพึงพอใจและมีมาตรฐานที่ดีจากมุมมองของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

การส่งเสริมและรักษาคุณภาพมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ผลิตในตราด เช่นการทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ การส่งเสริมการตลาดสินค้า OTOP และสินค้าเกษตร GI การส่งเสริมการได้รับมาตรฐานฟาร์ม เช่น GAP, Organic Thailand ฯลฯ มุ่งเน้นให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม มีมาตรฐาน GAP รับประกันความปลอดภัย

การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกต่อการเข้ามาซื้อสินค้าและท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชา เช่น การออกใบอนุญาตผ่านแดน การยกระดับด่านท่าเส้นเป็นด่านถาวร และขยายระยะเวลาเปิดด่าน การเพิ่มศักยภาพด้านศุลกากรเพื่อลดความแออัดของด่าน การพัฒนาสาธารณูปโภคของด่านและตลาดชายแดนให้มีความทันสมัยและเป็นจุดท่องเที่ยวได้

การสร้างความร่วมมือและประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวในฐานะเส้นทางร่วมด้านการท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางต่อไปยังกัมพูชาและเวียดนามได้ โดยมีบริการด้านการขนส่งและนำเที่ยวจากตราด ฯลฯและรักษาคุณภาพมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นการพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการท่องเที่ยว เช่น ถนนและท่าเรือ การทำการตลาดการท่องเที่ยวการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พรีเมี่ยมสำหรับผู้สูงอายุ

สำหรับผู้มารักษาพยาบาลชาวกัมพูชาและต้องการพักอาศัยชั่วคราวในตราด ฯลฯ ธุรกิจโรงเรียนฝึกอบรมบุคลากรรวมถึงการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ หรือ ละครที่ใช้ภูมิทัศน์จังหวัดตราดเป็นสถานที่ถ่ายทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการค้าระหว่างประเทศตลอดแนวเส้นทางตามระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้อง ทั้งในด้านของยุทธศาสตร์และนโยบายของแต่ละประเทศ ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงเป็นโอกาสและความท้าทายของแต่ละประเทศในการที่จะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะข้อตกลงทวิภาคี เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ควบคู่พร้อมกับการเป็นความร่วมมือแบบข้อตกลงพหุภาคี ที่ทำโดยทั้ง 4 ประเทศ เช่น การเจรจาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชา