posttoday

เมืองน่าลงทุนในเมียนมา

04 ตุลาคม 2563

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

เมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านและเป็นประเทศในสมาชิกอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ด้านการลงทุนและการทำการค้ากับไทยมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสินค้าจากไทยยังได้รับการยอมรับจากเมียนมา โดยสถิติจากกรมการค้าระหว่างประเทศ ปี 2563 เผยว่า ไทยนำเข้าสินค้าเป็นอันดับสองรองจากจีนในปี 2561 คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,618 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณ 78% ของมูลค่ามาจากการค้าชายแดน

ปัจจุบันนักลงทุนชาวต่างชาติได้แสวงหาโอกาสด้านการลงทุนในเมียนมามากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ปี 2555 จากการที่เมียนมาได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองภายในประเทศ และได้รับการยอมรับจากหลายประเทศในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน กฎหมายต่าง ๆ ได้รับการปรับปรุงเพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ และนโยบายทางเศรษฐกิจได้รับการปฏิรูป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงิน และระบบการชำระเงินของประเทศให้มีความเป็นสากลและได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น

นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยในการที่จะเพิ่มการลงทุนกับเมียนมาเพื่อขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนประเทศในสมาชิกอาเซียนด้วยกันและประเทศคู่แข่งตลาดโลก  กรมการค้าระหว่างประเทศ (2563) เผยว่า 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2562 - เมษายน 2563) ที่ผ่านการอนุมัติโดยคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา พบว่า ไทยมีการลงทุนที่เมียนมาสูงเป็นอับดับ 7 ด้วยมูลค่า 47.933 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นประเทศที่มาลงทุนในเมียนมามากเป็นอันดับ 3 หากนับสะสมตั้งแต่ปี 2531-2562

อย่างไรก็ตาม เมียนมาเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ การเลือกเมืองเพื่อลงทุนในเมียนมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้อง พื้นที่ที่เหมาะสมกับการลงทุนในเมียนมาประกอบไปด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่

1.นครเนปิดอว์ (Nay Pyi Daw) : เมืองหลวงและศูนย์ราชการ

นครเนปิดอว์ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงใหม่ของเมียนมาแทนกรุงย่างกุ้งเมื่อปี 2548 มีขนาดพื้นที่ราว 7 พันตารางกิโลเมตร ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากกว่ากรุงเทพมหานครถึง 4 เท่า ตั้งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งราว 350 กิโลเมตรไปทางตอนเหนือ ในปัจจุบัน นครเนปิดอว์เป็นที่ตั้งหน่วยงานของกองทัพทหาร และเป็นศูนย์กลางราชการและงานบริหารประเทศ

2.กรุงย่างกุ้ง (Yangon) : ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมียนมา

ถึงแม้ว่าปัจจุบันกรุงย่างกุ้งจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงของเมียนมาแล้ว แต่เนื่องจากกรุงย่างกุ้งมีความพร้อมทางด้านคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้กรุงย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม และยังเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของเมียนมาได้อย่างครบวงจรกว่าเมืองอื่น กรุงย่างกุ้งมีความพร้อมทางด้านคมนาคม โดยสามารถขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านท่าเรือน้ำลึกย่างกุ้งและท่าเรือทิวาลาที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีถนนที่เชื่อมไปยังพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศ และมีท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้งที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2.7 ล้านคน        

3.เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) : ศูนย์กลางเศรษฐกิจตอนบนของเมียนมา

เมืองมัณฑะเลย์เป็นฐานการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคที่สำคัญของเมียนมา และมีท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดของเมียนมา ในแต่ละปีสามารถรองรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติได้มากกว่า 3 ล้านคน นอกจากนี้เมืองมัณฑะเลย์ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืช ฝ้าย และยาสูบ เป็นศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญ ในด้านคมนาคมทางถนนจะค่อนข้างแออัด เนื่องจากมีปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการขนส่งล่าช้า แต่เมืองมัณฑะเลย์เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างตอนล่างและตอนบนของประเทศ โดยสามารถเชื่อมไปยังเส้นทางรถไฟในยุโรปและเอเชียใต้ได้อีกด้วย

แม้เมียนมาได้ปฎิรูปเศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ  แต่เนื่องจากแต่ละพื้นที่ในเมียนมามีความโดดเด่นในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป นักลงทุนจึงจำเป็นต้องศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละพื้นที่อย่างรอบคอบ รวมไปถึงการเรียนรู้ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวเมียนมา วิถีชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ และข้อควรระวังในการเจรจาการค้าที่อาจกระทบถึงเรื่องการเมืองและบาดแผลทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้การค้าและการลงทุนในเมียนมาประสบความสำเร็จ