posttoday

โมเดลการสนับสนุน SMEs สู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกของสิงคโปร์

06 พฤษภาคม 2563

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

การพัฒนาวิสาหกิจของประเทศกำลังพัฒนาให้เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) เพื่อยกระดับวิสาหกิจภายในประเทศให้ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตไปสู่การผลิตเพื่อการส่งออกนั้น เป็นข้อเสนอหนึ่งจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ครั้งที่ 14 ในปี 2559

เพื่อเป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SGDs) ให้ได้ภายในปี 2573

สอดคล้องกับแนวทางของอาเซียนที่ตั้งเป้าหมายการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise: SMEs) และวิสาหกิจรายย่อย (Micro-Enterprise) เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

โดยอาเซียนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการรวมตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมในภูมิภาคการที่ UNCTAD และอาเซียนให้ความสำคัญกับ SMEs

เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการศึกษาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปี 2559 พบว่า SMEs มีบทบาทสำคัญในการจ้างงานสูงถึง 63% ของการจ้างงานในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD)

แต่ในทางปฏิบัติสัดส่วนของ SMEs ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังมีอัตราการส่งออกอยู่ในระดับต่ำเพียง 7.6% ของยอดขายเท่านั้น

การที่วิสาหกิจภายในประเทศเข้าไปร่วมกับห่วงโซ่คุณค่าโลก หรือ GVCs สามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้

เนื่องจากสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศและเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ยิ่งไปกว่านั้น ยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สอดคล้องกับผลการวิจัยของ OECD ที่ระบุว่า ผลประโยชน์ที่แต่ละประเทศจะได้รับจากการเข้าร่วมกับ GVCs คือวิสาหกิจภายในประเทศจะได้รับการพัฒนาผลิตภาพการผลิต

เนื่องจากมีทักษะและความชำนาญที่เพิ่มขึ้นเพราะได้รับการถ่ายถอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากกลุ่มวิสาหกิจชั้นนำของโลก

อย่างไรก็ตาม การปรับทิศทางให้ SMEs หันมามุ่งเน้นการส่งออก ก้าวสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกและเป็นพลังในขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศได้นั้น

ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นระบบซึ่งสิงคโปร์เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีนโยบายการสนับสนุน SMEs ที่โดดเด่นในอาเซียนมีการส่งออกระดับสูง มีบริษัทข้ามชาติที่เป็น Lead Firms ของ GVCs เป็นจำนวนมาก และมีนโยบายส่งเสริม SMEs ที่ชัดเจน

นโยบายและหน่วยงานสนับสนุนที่ชัดเจนคือหัวใจสำคัญสิงคโปร์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs ให้มีโอกาสไปลงทุนค้าขายในต่างประเทศ มีการแบ่งโครงสร้างหน่วยงานและนโยบายการสนับสนุน SMEs อย่างชัดเจน

ปัจจุบันหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการสนับสนุน SMEs คือ Enterprise Singaporeอยู่ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Trade and Industry: MTI)ทำหน้าที่ส่งเสริมการไปลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการ SMEs

โดยนโยบายที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์มีดังนี้นโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในรูปแบบของเงินให้เปล่า เงินกู้ยืม การประกัน แรงจูงใจทางภาษี และการร่วมลงทุน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกิจการของผู้ประกอบการ SMEsควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำในการจัดตั้งกิจการ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การสร้างมาตรฐานสินค้า

โดยใช้ระบบ IT มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดการด้านการเงิน การตลาด การบริการลูกค้า และการติดตามสินค้าคงคลัง เป็นต้น ทั้งนี้

บทบาทของหน่วยงานภาครัฐจะทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ SMEsที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดทั้งในด้านสัดส่วนการถือหุ้นของคนสิงคโปร์ จำนวนแรงงาน และ ยอดขายตามที่กำหนด

ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEsสัญชาติสิงคโปร์ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน การให้ข้อมูลและความรู้ การจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในต่างประเทศและบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในสิงคโปร์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนการส่งเสริมการขายในต่างประเทศนโยบายการส่งเสริม SMEs เข้าร่วม GVCs

รัฐบาลสิงคโปร์พยายามกระตุ้นให้บรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนโดยในสิงคโปร์มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังบริษัทในประเทศ จึงจัดตั้งโครงการ Local Industry Upgrading Program (LIUP)

โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ระยะที่ 1 พัฒนาประสิทธิภาพโดยรวมของ SMEs หน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนด้านการวางแผนการผลิต การจัดสินค้าคงคลัง การออกแบบการจัดวางผังโรงงาน เทคนิคในการบริหารจัดการและการเงิน

ระยะที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ หรือการทำ R&D ของ SMEs ภายในประเทศ ซึ่งเป็นการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรม IT เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์

ระยะที่ 3 สร้างความร่วมมือกับบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมการ การทำ R&D ร่วมกัน หรือส่งเสริมให้ SMEs มีส่วนร่วมในกิจการของบรรษัทข้ามชาติ เช่น จัดหาวัตถุดิบให้บรรษัทข้ามชาติ เป็นต้น

โดยหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนด้านการเงินและการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารและการจัดการองค์กรเพื่อพัฒนา SMEs ภายในประเทศให้ได้มาตรฐานและมีความพร้อมในการเข้าร่วมกับ GVCs ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐยังมีมาตรการจูงใจทางการเงินแก่บรรษัทข้ามชาติ เพื่อโน้มน้าวให้เลือกใช้วัตถุดิบจาก SMEs ภายในประเทศ ถ่ายถอดเทคโนโลยี และขยายตลาดให้ SMEsสามารถเข้าถึงเครือข่ายการค้าของบรรษัทข้ามชาติได้

การที่สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก มีทรัพยากรทางธรรมชาติและกำลังแรงงานที่จำกัดรัฐบาลจึงสร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ยกระดับสิงคโปร์ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ของเอเชีย

ส่งผลให้สิงคโปร์กลายเป็นจุดหมายที่บรรดาบรรษัทข้ามชาติปรารถนาเข้ามาลงทุนทำธุรกิจแม้รัฐบาลสิงคโปร์จะส่งเสริมการลงทุนจากภายนอกแต่ยังคำนึงถึงความอยู่รอดของผู้ประกอบการ SMEs ภายในประเทศให้มีโอกาสเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หัวใจของความสำเร็จในการผลักดัน

SMEs สัญชาติสิงคโปร์ให้สามารถเข้าสู่ GVCs ได้คือการมีนโยบายและหน่วยงานสนับสนุนที่มีโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างบรรษัทข้ามชาติกับ SMEs เพื่อแสวงหาแนวทางให้ทุกฝ่ายสามารถเติบโตร่วมกันได้และพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาคไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน