posttoday

การค้าเสรีจากนโยบาย 'Doi Moi'

10 ตุลาคม 2562

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th

เวียดนามกำลังเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดดเด่นในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน จากประเทศที่เคยตกเป็นประเทศอาณานิคมและบอบช้ำในสงครามเวียดนาม มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงปี 2528 อยู่ที่เพียง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่สามารถยกระดับเป็น 244,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 และก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income) ได้อย่างรวดเร็วภายในสามทศวรรษ

พัฒนาการทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ "Doi Moi"(Renovated Policies) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกซึ่งได้มีการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรเป็นจำนวนมาก ภาคเอกชนได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตและส่งออกมากขึ้น

ประกอบกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ให้สอดรับกับระบบเศรษฐกิจสากลมากขึ้น สถิติจาก World’s Top Export ระบุว่าในปี 2561 เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 3 ของโลกรองจากอินเดียและไทย สร้างมูลค่ากว่า 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หัวใจของนโยบาย Doi Moi คือ การผสมผสานระหว่างการเปิดเสรี (Liberalization) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสถาบัน (Institutional Reform) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Reform)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการส่งออก ส่งเสริมการลงทุนโดยภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเวียดนาม ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคุมเงินเฟ้อ และอนุญาตให้ชาวเวียดนามสามารถถือครองที่ดินได้ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบาย Doi Moi ยังพลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามจากประเทศเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม โดยปี 2528 ก่อนประกาศใช้นโยบาย Doi Moi สัดส่วนภาคเกษตรกรรมของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 40.17% และลดลงเหลือ 23.24% ในปี 2544 ปัจจุบันสัดส่วนภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ 15.34%
ภาคบริการ 41.26% และภาคอุตสาหกรรม 33.4% โดยส่งออกอันดับต้น ๆ ของเวียดนามไม่ใช่สินค้าเกษตรแต่เป็นเครื่องจักรไฟฟ้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เป็นต้น

นอกจากนโยบาย Doi Moi แล้ว เวียดนามยังใช้นโยบาย Open Door Policy ควบคู่ไปด้วยโดยอาศัยกลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ยังอิงกับหลักเศรษฐกิจแบบ Socialist-Oriented Market Economy ซึ่งรวมอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลางเช่นเคย

ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากสามารถดึงดูดนักลงทุนจากภายนอกแล้วยังนำพาเศรษฐกิจเวียดนามให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ดังปรากฏการเข้าเป็นสมาชิกเอเปกในปี 2531 เป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2538 และเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-อินเดีย ฯลฯ

ปัจจุบันเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับกว่า 224 ประเทศทั่วโลก และลงนามสนธิสัญญาทวิภาคีด้านการค้าไปแล้วกว่า 100 ฉบับ การสร้างเครือข่ายการค้าเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชาวเวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดโลกและเพิ่มช่องทางการส่งออก โดยการการส่งออกและการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศต่างเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

อย่างไรก็ดี ผลกระทบของการค้าระหว่างประเทศสามารถลดความยากจนในเวียดนามอย่างเห็นได้ชัด จากช่องทางด้านราคา (Price Channel) ซึ่งการเปิดเสรีการค้าในภาคเกษตรกรรมส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรที่ส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาข้าวดีดตัวสูงขึ้นถึงกว่า 30%

ขณะที่ราคาต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ยลดลงถึง 23% จากการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตเพื่อการส่งเสริมการส่งออกของภาครัฐ เกษตรกรเวียดนามจึงมีรายได้ที่สูงขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของราคาข้าว

นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้ายังส่งผลให้อัตราการจ้างงาน (Employment Effect) และค่าจ้าง (Wage Effect) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยหลังประกาศใช้นโยบาย Doi Moi ช่วงปี 2536-2541 ค่าจ้างแรงงานในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 10.5% และอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2-3%

ขณะที่มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 57,096 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 290,395 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ซึ่งสินค้าส่งออกกว่า 70% มาจากภาคอุตสาหกรรม โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามจึงเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรมในที่สุด
โดยผลจากการประกาศใช้นโยบาย Doi Moi ผ่านช่องทางด้านราคาสินค้าและการจ้างงานส่งผลให้อัตราความยากจนของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากสัดส่วน 50% ในช่วงปี 2530 ลดเหลือเพียง 17.02% ในปี 2555 และ 9.8% ในปี 2559 ในที่สุด

บทเรียนจากนโยบาย Doi Moi สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวของเวียดนามจากประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชเพียง 65 ปี ผ่านความบอบช้ำจากสงครามเวียดนาม และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจล่าช้า

แต่ ณ วันนี้เป็นที่ประจักษ์กับสายตาชาวโลกแล้วว่าเวียดนามสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ ความเจริญ และคุณภาพชีวิตประชาชนได้ด้วยแนวทางของตนเอง นำพาประเทศก้าวพ้นเส้นความยากจน และเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีนัยสำคัญ

ภาพ-AP/David Guttenfelder