posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้กรอบ BIMSTEC

01 สิงหาคม 2562

BIMSTEC (บิมสเทค) กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อยู่ในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทย หวังให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

BIMSTEC (บิมสเทค) กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อยู่ในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทย หวังให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sector Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) หรือกรอบความร่วมมือ BIMSTEC (บิมสเทค) เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อยู่ในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดจากนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี คมนาคม การสื่อสาร พลังงาน การท่องเที่ยว และประมง รวมทั้งส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน

BIMSTEC ได้จัดตั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดยมีประเทศสมาชิกดั้งเดิม 4 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และไทย ส่วนเมียนมา ได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 ต่อมาเนปาลและภูฏานได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ

ภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC ได้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศสมาชิก และเพื่อดึงดูดนักธุรกิจจากภายนอกให้เข้ามาทำการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิก BIMSTEC ให้มากขึ้น โดยขอบเขตของกรอบความตกลงครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การเปิดเสรีการลงทุน และการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ความเป็นมาในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี เริ่มจากการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า BIMSTEC ครั้งที่ 4 ณ กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อเจรจาจัดทำกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC (BIMSTEC Free Trade Area) ต่อมารัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้าของประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ร่วมลงนามในกรอบความตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 และมีการจัดตั้งคณะกรรมการการเจรจาการค้า BIMSTEC (BIMSTEC TNC) เพื่อเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC ต่อไป โดยปัจจุบัน ศรีลังกาทำหน้าที่เป็นประธานถาวรคณะกรรมการการเจรจาการค้า BIMSTECโดยสำนักงานเลขาธิการ BIMSTEC ตั้งอยู่ ณ กรุงธากา บังคลาเทศ

สาระสำคัญของกรอบความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน อยู่ภายใต้การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อให้การเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC มีความก้าวหน้ามากขึ้น และเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน ภายใต้การจัดทำความตกลงการยอมรับคุณสมบัติร่วม (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) และความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร

การจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) เป็นความตกลงที่เสนอให้คู่ค้าแต่ละฝ่ายยอมรับมาตรฐานและการตรวจสอบสินค้าของกันและกันในการทำการค้าระหว่างประเทศ และเกิดขึ้นเมื่อประเทศคู่ค้ามีมาตรฐานบังคับที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละประเทศจะเปรียบเทียบมาตรฐาน และวิธีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าแต่ละชนิดที่จะทำการค้าของประเทศคู่ค้า โดยที่ไม่ต้องตรวจสอบและรับรองซ้ำอีกต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน

ปัจจุบันการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (BIMSTEC TNC) ได้มีการจัดประชุมเพื่อเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี BIMSTEC มาแล้วอย่างต่อเนื่องจำนวน 20 ครั้ง โดยครั้งสุดท้าย ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน พ.ศ. 2558 ณ จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย โดยในการเจรจา BIMSTEC TNC ที่ผ่านมาทั้ง 20 รอบเน้นการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าสินค้า และได้มีการตั้งคณะทำงาน (Working Group) เพื่อศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าเสรี 6 คณะ ซึ่งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า คือ คณะทำงานด้านสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า และได้มีการจัดทำข้อตกลงทางการค้าภายใต้ Agreement on Trade Facilitation for the BIMSTEC FTA

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (BIMSTEC TNC) ครั้งที่ 20 ณ จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย คณะเจรจาฯ ของอินเดียก็ขอไม่เข้าร่วมการประชุม BIMSTEC TNC อีกต่อไป เนื่องจากต้องการแก้ไขการจัดทำกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSRs)

สำหรับสินค้า 147 รายการ ที่ได้ข้อสรุปจากการประชุมครั้งที่ 19 ในปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากรายการดังกล่าวที่ได้สรุปไปแล้วนั้น ไม่สอดคล้องกับนโยบายการค้าของรัฐบาลอินเดียในปัจจุบัน โดยอินเดียจะจัดทำข้อคิดเห็นในรายการดังกล่าวและส่งให้สำนักงานเลขาธิการ BIMSTEC เพื่อส่งให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ พิจารณาต่อไป

หลังจากเกิดความล่าช้าที่เกิดขึ้นภายหลังการประชุม BIMSTEC TNC ครั้งที่ 20 การประชุม ครั้งที่ 21 สามารถจัดขึ้นได้ในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 (ห่างจากครั้งที่ 20 เป็นเวลา 3 ปีเศษ) ณ กรุงธากา บังคลาเทศ โดยในการประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิกสามารถหาข้อสรุปในข้อตกลงการค้าเสรีได้ 3 ฉบับ ได้แก่ Agreement on Trade in Goods, Agreement on Cooperation and Mutual Assistance in Customs Matters และ Agreement on Dispute Settlement Procedures and Mechanisms

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการลงทุน ข้อตกลงการค้าบริการ และข้อตกลงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ก็ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้และต้องมีการเจรจาต่อไป