posttoday

ความตกลงอำนวยความสะดวกขนส่งข้ามแดนใน GMS (4)

09 พฤษภาคม 2562

ข้อตกลง GMS CBTA  ยังมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ ส่งผลให้การขนส่งข้ามแดนภายใต้กรอบนี้ยังไม่มากนัก เหตุบุคคลากรยังไม่พร้อมและไม่คุนเคยกับกระบวนการ

ข้อตกลง GMS CBTA  ยังมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ ส่งผลให้การขนส่งข้ามแดนภายใต้กรอบนี้ยังไม่มากนัก เหตุบุคคลากรยังไม่พร้อมและไม่คุ้นเคยกับกระบวนการ

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th

ถึงแม้ว่าความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการผลักดันการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมผ่าน The Initial Implementation of the CBTA (IICBTA) และ Early Harvest GMS CBTA แต่ในทางปฏิบัติพบว่ายังคงมีอุปสรรคหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถนำสาระสำคัญในหลายภาคผนวกและพิธีสารมาปฏิบัติใช้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

• กรอบความตกลงด้านการขนส่งภายในภูมิภาค
ความตกลงด้านการขนส่งข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคมิได้มีเพียงความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) เท่านั้น   แต่ยังคงมีอีกหลายกรอบความตกลงที่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ ซึ่งก่อให้เกิดความสะดวกกับผู้ให้บริการขนส่งและเจ้าของสินค้า

ไม่ว่าจะเป็น ความตกลงทวิภาคีและความตกลงไตรภาคีด้านการขนส่งระหว่างประเทศ รวมทั้งกรอบความตกลงด้านการขนส่งของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Inter-State Transport: AFAFIST)

กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit: AFAFGIT) และกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport: AFAMT) โดยประเทศในกลุ่ม CLMVT สามารถนำกรอบกรอบความตกลงดังกล่าวมาปฏิบัติใช้ได้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบัน การขนส่งข้ามแดนและผ่านแดนในอนุภูมิภาคยังมีการใช้เอกสารข้ามแดน/ผ่านแดน ภายใต้กรอบ GMS CBTA อยู่ในปริมาณที่ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขนส่งข้ามแดน/ผ่านแดนในภูมิภาค

• การจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA)
ประเด็นการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) ณ จุดพรมแดนภายใต้เส้นทางที่กำหนด เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Window Inspection: SWI) และการตรวจสอบเพียงจุดเดียว (Single Stop Inspection: SSI) เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนในการข้ามแดนของบุคคล ยานพาหนะและสินค้า

รวมทั้งเป็นการช่วยลดความแออัดบริเวณด่านพรมแดน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้มีการดำเนินการภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

- การที่บุคคล สินค้า และยานพาหนะจะเข้ามาดำเนินการภายในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) มีข้อกำหนดว่าจะต้องถือเอกสารของ GMS CBTA เท่านั้น ซึ่งหากมิได้ถือเอกสารของ GMS CBTA ไม่จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการพิธีการต่าง ๆ พื้นที่ดังกล่าว แต่ให้ใช้กระบวนการข้ามแดน/ผ่านแดนในรูปแบบปกติ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ยังคงมีรถบรรทุกสินค้าและผู้ขับขี่ที่ใช้เอกสาร GMS CBTA ในการข้ามแดน/ผ่านแดน ในปริมาณที่ไม่มาก ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มปริมาณโควตายานพาหนะข้ามแดน/ผ่านแดนของแต่ละประเทศสมาชิกแล้วก็ตาม

- การจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (CCA) บริเวณด่านพรมแดนขาเข้าของแต่ละประเทศ จะต้องอยู่ภายใต้เส้นทางตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านความพร้อมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บริเวณด่านพรมแดนของทั้งสองประเทศที่จะต้องมีการปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งอาจมีความไม่คุ้นเคยในแนวทางการปฏิบัติ

รวมทั้งหน่วยงานพรมแดนของทั้งสองประเทศจะต้องจัดหาบุคลากรเพื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (CCA) โดยเฉพาะ นอกเหนือไปจากการปฏิบัติในรูปแบบปกติ ซึ่งก่อให้เกิดประเด็นปัญหาด้านบุคลากรในการปฏิบัติงานที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งมีประเด็นด้านความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน เนื่องจากผู้ขนส่งสินค้าข้ามแดน/ผ่านแดน อาจจะไม่ได้ใช้เอกสาร GMS CBTA ในการข้ามแดน/ผ่านแดน ทำให้ต้องมีการข้ามแดน/ผ่านแดนในระบบปกติ และไม่ต้องดำเนินการผ่านพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (CCA)

ทั้งนี้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ยังมีอีกหลายประเด็น จะขอกล่าวรวมกับการนำเสนอข้อเสนอแนะของไทยที่มีต่อความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ในตอนต่อไป