posttoday

ความตกลงอำนวยความสะดวกขนส่งข้ามแดนใน GMS (2)

25 เมษายน 2562

นำร่องใช้ข้อตกลง GMS CBTA ใน 7 จุดผ่านแดน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน โดยให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจปล่อยสินค้าและบุคคลล่วงหน้า

นำร่องใช้ข้อตกลง GMS CBTA ใน 7 จุดผ่านแดน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน โดยให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจปล่อยสินค้าและบุคคลล่วงหน้า

 โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th

ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA) ได้ปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนำ The Initial Implementation of the CBTA (IICBTA) มาปฏิบัติใช้ ซึ่งเป็นผลจากการประชุมคณะทำงานสาขาคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 ปี 2546

คณะทำงานสาขาคมนาคมขนส่งได้เห็นชอบให้มีการดำเนินการ ณ จุดผ่านแดนนำร่อง 7 จุด ได้แก่ 1. ลาวบาว (เวียดนาม) - แดนสะหวัน (สปป.ลาว) 2. มุกดาหาร (ไทย) - สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) 3. แม่สอด (ไทย) - เมียวดี (เมียนมา) 4. ปอยเปต (กัมพูชา) - อรัญประเทศ (ไทย) 5. บาเวต (กัมพูชา) - ม็อกไบ (เวียดนาม) 6. แม่สาย (ไทย) - ท่าขี้เหล็ก (เมียนมา) 7. เหอโค่ว (จีน) - ลาวไค (เวียดนาม) ซึ่งจะต้องมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศคู่ภาคีทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคี เพื่อให้ The Initial Implementation of the CBTA (IICBTA) สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

สาระสำคัญของ The Initial Implementation of the CBTA (IICBTA) ได้แก่ การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ณ จุดผ่านแดนที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็น การแลกเลี่ยนสิทธิการจราจร การยอมรับรถซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจปล่อยสินค้าและบุคคลล่วงหน้า การขนส่งบุคคลข้ามแดน การขนส่งสินค้าข้ามแดน และมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก

พิธีการข้ามแดนทั้งการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Window Inspection: SWI) หมายถึง การปฏิบัติงานร่วมกันและพร้อมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก เช่น ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง เกษตร ปศุสัตว์ สาธารณสุข ฯลฯ

IICBTA มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกโดยการยื่นเอกสารได้ภายในจุดเดียวและการตรวจสอบเพียงจุดเดียว (Single Stop Inspection: SSI) หมายถึง การตรวจสอบแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียวโดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศปฏิบัติงานร่วมกันและพร้อมกันที่จุดตรวจประเทศขาเข้าในเขตพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) ซึ่งประเทศสมาชิกได้เห็นชอบและมีการกำหนดพื้นที่นำร่อง (Pilot site) บริเวณจุดผ่านหลักในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งกำหนดให้มีการนำระบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (SWI) และการตรวจสอบเพียงจุดเดียว (SSI) ภายในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) มาปฏิบัติใช้
ในการปฏิบัติตามกรอบของความตกลงดังกล่าวนี้ไทยได้มีการทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในเส้นทางต่าง ๆ ได้แก่

1.ในปี 2548 ณ จุดผ่านแดน มุกดาหาร (ไทย) - สะหวันนะเขต (สปป.ลาว)

2.ในปี 2548 ณ จุดผ่านแดน ปอยเปต (กัมพูชา) - อรัญประเทศ (ไทย) และเปิดเดินรถขนส่งระหว่างกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

3.ในปี 2550 ณ จุดผ่านแดน มุกดาหาร (ไทย) - สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) - ลาวบาว (เวียดนาม) และเปิดเดินรถขนส่งระหว่างกันอย่างเป็นทางการ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552

4.บันทึกความตกลง (MOU) ระหว่างไทย - เมียนมา (แม่สอด - เมียวดี และแม่สาย - ท่าขี้เหล็ก) อยู่ในระหว่างการรอความพร้อมของเมียนมา (ข้อมูล ณ ปี 2561)

5.บันทึกความตกลง (MOU) ระหว่างไทย - สปป.ลาว - จีน ยังคงมีอุปสรรคในการเจรจาในหลายประเด็น (ข้อมูล ณ ปี 2561)ไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) โดยได้มีการการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว ได้แก่

•พระราชบัญญัติว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. 2556 ซึ่งรองรับการตรวจปล่อยจุดเดียว (SSI) และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถปฏิบัติงานภายนอกราชอาณาจักร

•พระราชบัญญัติว่าว่าด้วยการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. 2556

•พระราชบัญญัติว่าด้วยการรับขนคนโดยสารและสัมภาระทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับภาคผนวก 5 การขนส่งคนโดยสารข้ามพรมแดน

•พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบทางศุลกากรให้มีความสอดคล้องกับความตกลงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มีความพยายามในการผลักดันให้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) มีการปฏิบัติใช้อย่างเต็มรูปแบบภายในอนุภูมิภาคลุ่มอม่น้ำโขง

รวมทั้งการริเริ่มในการปฏิบัติใช้ผ่าน The Initial Implementation of the CBTA (IICBTA) แต่ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ยังคงมีอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาเชิงเทคนิคและกฎระเบียบที่ทำให้ยังไม่สามารถปฏิบัติใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ

ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันในภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายครบทุกฉบับในปลายปี 2558 แล้วก็ตาม และจากผลการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ในปี 2560 ได้กำหนดให้มีการดำเนินการ “ระยะแรกเริ่ม” (Early Harvest) ของความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ซึ่งจะกล่างถึงโดยละเอียดในบทความตอนต่อไป