posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน

09 เมษายน 2562

อาเซียนร่วมกันจัดตั้งระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวระดับประเทศในทุกประเทศสมาชิกอาเซียนและขยายขอบเขตโครงการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยร่วมมือกันในการจัดการระบบฐานข้อมูลทางการค้าของประเทศและของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างค


อาเซียนร่วมกันจัดตั้งระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวระดับประเทศในทุกประเทศสมาชิกอาเซียนและขยายขอบเขตโครงการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยร่วมมือกันในการจัดการระบบฐานข้อมูลทางการค้าของประเทศและของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสด้านกฎระเบียบ


โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
www.itd.or.th

จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้รับรองแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2568 เพื่อกำหนดทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1. การเป็นเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง 2. การมีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรมและมีพลวัต 3. ส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและการรวมตัวรายสาขา 4.ความสามารถในการปรับตัว ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ 5. การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก

การดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้ระบุในยุทธศาสตร์ย่อยว่าด้วยการค้าสินค้า ภายใต้ยุทธศาสตร์หลักว่าด้วยการเป็นเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง โดยกำหนดให้มีการดำเนินงานต่อเนื่องตามแผนงานประชาคมอาเซียน 2558 เกี่ยวกับการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าที่เสรีมากยิ่งขึ้น โดยอาเซียนจะยังคงมุ่งเน้นลดหรือยกเลิกมาตรการด้านกฎระเบียบ ณ บริเวณพรมแดนและภายในประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาเซียนมีบทบาทในการผลักดันให้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกประสบความสำเร็จภายในปี พ.ศ. 2556 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่สอดคล้องกันและมีระดับใกล้เคียงกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศของโลก จึงได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน” ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า และให้เกิดความมั่นใจว่าการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

มาตรการสำคัญที่อาเซียนมุ่งดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดตั้งระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวระดับประเทศในทุกประเทศสมาชิกอาเซียนและขยายขอบเขตโครงการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวอาเซียนให้ครอบคลุมสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ การร่วมมือกันในการจัดการระบบฐานข้อมูลทางการค้าของประเทศและของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสด้านกฎระเบียบและเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถคาดการณ์ได้ การลดขั้นตอนและปรับปรุงการบริหารจัดการระบบกฎระเบียบ ข้อกำหนดด้านเอกสารและกระบวนการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งพิธีการทางศุลกากร ให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นอาเซียนยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือ การประสานงาน การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน การพัฒนาพื้นฐานด้านโครงสร้างและด้านกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าภายในภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการลดการปกป้องทางการค้าและลดต้นทุนอันเกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการที่มิใช่ภาษี

ในฐานะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2562 การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียนเป็นประเด็นความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญเร่งรัดผลักดันดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียนที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ความสำเร็จของการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าจะเกื้อหนุนให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมีโอกาสในการส่งสินค้าออกไปขายในจตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่าสินค้าจากเพื่อนบ้านก็มีโอกาสไหลเข้ามาแย่งชิงตลาดในประเทศของผู้ประกอบการไทยได้ด้วย ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาสิ่งอำนวยความทางการค้า