posttoday

โรงเรียนกสิกรรมแห่งแรกใน สปป.ลาว

23 กุมภาพันธ์ 2562

ในบรรดาชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

ในบรรดาชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ คงไม่มีเพื่อนบ้านคู่ไหนที่มีวัฒนธรรมและภาษาใกล้เคียงกันเท่าไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) วิถีชีวิตและหลายสิ่งหลายอย่างมีความใกล้เคียงจนเกือบจะเป็นประเทศเดียวกันเพียงมีลำน้ำโขงกั้นไว้เท่านั้น

โดยเฉพาะในด้านของภาษา เมื่อต้องสื่อสารกันคนไทยอาจต้องตั้งใจฟังสำเนียงภาษาลาวอยู่บ้าง แต่สำหรับชาวลาวแล้วฟังภาษาไทยได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ หรือแขวงใหญ่ที่สามารถเข้าถึงการสื่อสารทางไกล ที่ส่วนใหญ่แล้วก็รับชมรายการโทรทัศน์จากประเทศไทย

นอกจากความใกล้ชิดด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษา ระหว่างไทยและ สปป.ลาว ยังมีความร่วมมือต่างๆ จำนวนมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง“วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง” โรงเรียนด้านเกษตรกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของ สปป.ลาว หนึ่งในโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

กำเนิดศูนย์เรียนรู้เกษตรยั่งยืน

โรงเรียนกสิกรรมแห่งแรกใน สปป.ลาว

เกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว กล่าวถึงความเป็นมาให้ฟังว่า วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง เดิมนั้นเป็นโรงเรียนเทคนิคที่เปิดการเรียนการสอนานวิชาชีพสาขาวิชาต่างๆ รวมถึงสาขาเกษตรเหมือนโรงเรียนเทคนิคแห่งอื่นๆ

แต่เนื่องจากทาง สปป.ลาว ต้องการที่จะให้มีสถาบันด้านเกษตรกรรมสอนทั้งด้านทฤษฎีและมีแปลงให้ลงมือปฏิบัติ จึงได้ขอการสนับสนุนจากประเทศไทย จึงเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเกษตรยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้างแห่งนี้ขึ้น ที่เมืองหาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ โดยเปิดการเรียนการสอนเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา

หลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยมีฐานการเรียนรู้ทั้งด้านพืช สัตว์ และประมง สอนนักเรียนประมาณ 800 คนในปัจจุบันนี้มีต้นแบบจากศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว หลัก 22 ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองนาทรายทอง ทางทิศเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์

โครงการพระราชดำริโครงการแรกที่ข้ามพรมแดนไปดำเนินการใน สปป.ลาวเมื่อปี 2537 ตามคำกราบบังคมทูลพระกรุณาของไกสอน พมวิหาน ประธาน สปป.ลาวในเวลานั้น ซึ่งขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาด้านการเกษตรขึ้นในลักษณะเดียวกับศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในประเทศไทย

ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์พัฒนาฯห้วยซอน-ห้วยซั้ว หลัก 22 ในปี 2537พระองค์เสด็จฯ มายังพื้นที่ตั้งของวิทยาลัยดงคำช้างพร้อมพระราชทานคำแนะนำต่างๆ เช่น ที่ตั้งของแหล่งเก็บน้ำ การสร้างประตูน้ำ ทางส่งน้ำและการปรับพื้นที่แปลงเกษตรต่างๆ ด้วยพระองค์เองด้วย

“ปัจจุบันศูนย์พัฒนาฯ ห้วยซอน-ห้วยซั้ว หลัก 22 เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ที่ขยายไปสู่แขวงต่างๆ อีก 17 แขวงของ สปป.ลาว เช่นเดียวกับวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้างก็เป็นแม่ข่ายถ่ายทอดความรู้ไปยังโรงเรียนอาชีวศึกษาด้านการเกษตรอื่นๆ นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วยังเป็นการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรสะอาดได้ผลผลิตที่ปลอดภัยใน สปป.ลาว”

โครงการพระราชดำริใน สปป.ลาว

โรงเรียนกสิกรรมแห่งแรกใน สปป.ลาว

เอกอัครราชทูตเกียรติคุณ กล่าวว่านับแต่เริ่มมีการเผยแพร่โครงการพระราชดำริเข้ามายัง สปป.ลาวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริใน สปป.ลาวแล้ว 11 โครงการ ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทยเข้ามาร่วมสนับสนุน ทั้งด้านการเกษตร ด้านการศึกษา สาธารณสุข ซึ่งในส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรในวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้างนี้ ได้มีวิทยาลัยเกษตรกรรมอุดรธานี ซึ่งเป็นวิทยาลัยของไทยที่มีที่ตั้งใกล้กับนครหลวงเวียงจันทน์มากที่สุดเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง

การจับคู่ถ่ายทอดความรู้ลักษณะนี้จะเกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพราะปัญหาใน สปป.ลาวขณะนี้มีปัญหาเช่นเดียวกับไทยนั่นคือประชากรเกือบ 80% พึ่งพารายได้จากภาคเกษตร ในขณะที่การปลูกพืชส่วนใหญ่ยังคงเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว พึ่งพาการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมาก แต่การเรียนการสอนที่นี่ถ่ายทอดความรู้การทำเกษตรผสมผสานเป็นเกษตรสะอาด พึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลังเปิดการเรียนการสอนมาเกือบ 2 ปีเริ่มมีผลผลิตที่เป็นเกษตรสะอาดออกสู่ตลาดแต่ยังไม่ได้ขยายไปในวงกว้างเนื่องจากผลผลิตที่ออกมายังมีจำกัด ขณะที่การรับรู้ของเยาวชนที่สนใจเรียนด้านการเกษตรมากขึ้น โดยนักเรียนที่เรียนอยู่ปัจจุบันก็มาจากทั่วประเทศลาว

หลักสูตรที่ยืดหยุ่นรองรับคนทุกกลุ่ม

โรงเรียนกสิกรรมแห่งแรกใน สปป.ลาว

การเดินทางไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนที่วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง เป็นช่วงที่เพิ่งผ่านการเก็บเกี่ยวพืชผล และกำลังลงแปลงปลูกรอบใหม่ทั้งผักและข้าว

ข้อมูลจากคณะอาจารย์ของวิทยาลัยว่าที่นี่ดำเนินการสอนโดยคณะอาจารย์ที่เกินกว่า 70% จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเกษตรจากประเทศไทย ขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างแขวง โดยส่วนใหญ่มีเป้าหมายคือนำความรู้กลับไปประกอบอาชีพในบ้านเกิด

ส่วนนักเรียนที่มาจากนครหลวงเวียงจันทน์มีอยู่เพียง 5% เท่านั้น เพราะค่านิยมการเลือกเรียนของเยาวชนใน สปป.ลาว ไม่ต่างจากทางฝั่งไทย ที่ความสนใจด้านการเกษตรลดลง สาขาที่เยาวชนที่นี่ให้ความสนใจมากที่สุด คือ การเงินและบัญชี

การเกิดขึ้นของโรงเรียนด้านการเกษตรเต็มรูปแบบแห่งแรกนี้ เริ่มจากที่ทางรัฐบาลก็เล็งเห็นว่า สปป.ลาว เป็นประเทศเกษตรกรรมที่ประชาชน 74% อยู่ในภาคเกษตรและ 24% ยังเป็นผู้ยากจน แต่ที่ผ่านมาองค์ความรู้ยังอยู่ในภาคทฤษฎีมากกว่าการลงมือปฏิบัติ ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนได้ลงมือทำจริง พอดีกับช่วงที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) เข้ามา ทาง สปป.ลาวจึงได้เสนอโครงการขอการสนับสนุนและมีการขับเคลื่อนจนโรงเรียนเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2560

ปัจจุบันหลักสูตรของโรงเรียนมีทั้งหมด 8 หลักสูตร 22 ฐานกิจกรรม ครอบคลุมการเรียนทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง แยกเป็นหลักสูตรทั้งระยะสั้น 3 เดือน ระยะกลาง10 เดือน และระยะยาว 2 ปี ที่มีการแยกหลักสูตรเป็นหลายระยะเนื่องจากทางรัฐบาลมีนโยบายให้มีหลักสูตรรองรับสำหรับคนทุกกลุ่ม รวมไปถึงผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือศึกษาไม่จบแต่ต้องการเรียนรู้ภาคปฏิบัติด้านการเกษตรให้มีโอกาสเข้ามารับความรู้

การเรียนการสอนนอกจากสอนโดยคณาจารย์ของวิทยาลัยเอง จะมีคณะอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรกรรมอุดรธานีเข้ามาฝึกอบรมความรู้เฉพาะทางเป็นระยะ เช่น สอนการผสมพันธุ์ปลา การเลี้ยงสัตว์ การทำอาหารสัตว์ การแปรรูปจากผลิตภัณฑ์เกษตร

เตรียมขยายฐานความรู้ไปทั่วประเทศ

โรงเรียนกสิกรรมแห่งแรกใน สปป.ลาว

ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง บุนมา จันทะวง กล่าวถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการเรียนการสอนหลังเปิดดำเนินการมาเกือบ 2 ปี ว่าพื้นที่ซึ่งเป็นฐานการเรียนทั้งด้านพืช สัตว์ และประมงของโรงเรียนบนพื้นที่ 30 ไร่ แม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่มีความหมายอย่างมากสำหรับนักเรียน

เพราะได้มีพื้นที่ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งที่ผ่านมานั้นองค์ความรู้ด้านการเกษตรส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคทฤษฎีและนำแต่เปิดดำเนินการเป็นโรงเรียนกสิกรรมเต็มรูปแบบ ได้ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากทั่วประเทศทั้งส่วนราชการและทหาร การออกไปให้ความรู้กับผู้นำชุมชนต่างๆ รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนกับองค์กรระหว่างประเทศในการเข้ามาให้ความรู้ด้านการเกษตร

และด้วยปริมาณงานที่มากขึ้นและคณะอาจารย์มีภารกิจการสอน ในอนาคตโรงเรียนจะมีการแบ่งหน่วยงานเพื่อออกมาดูแลศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเกษตรยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะ

ส่วนแผนการขยายองค์ความรู้ด้านการเกษตรเช่นเดียวกับดงคำช้างนี้ ทาง สปป.ลาวเองหวังที่จะขยายไปทั้ง 17 แขวงทั่วประเทศ โดยจะขอการสนับสนุนทั้งด้านทุนและองค์ความรู้จากประเทศไทย ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้จะก่อตั้งขึ้นใน 2 แขวงสำคัญ คือแขวงเซกอง และแขวงคำม่วน จะมีลักษณะการจับคู่ถ่ายทอดความรู้จากวิทยาลัยเกษตรกรรมในไทยที่มีที่ตั้งใกล้ที่สุด โดยแขวงเซกองจะมีวิทยาลัยเกษตรกรรมอุบลราชธานี ส่วนแขวงคำม่วนจะมีวิทยาลัยเกษตรกรรมนครพนมเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้

“สปป.ลาวมีศักยภาพที่จะพัฒนาด้านการเกษตรได้อีกโดยเฉพาะการทำเกษตรสะอาด เพราะแม้บางจุดจะประสบกับปัญหาการใช้สารเคมีในภาคเกษตร แต่ก็เป็นปัญหาในบางพื้นที่และเป็นส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรชาวลาวยังเป็นเกษตรแบบดั้งเดิม” ผู้อำนวยการ บุนมา กล่าว

ทั้งไทยและลาวล้วนมีภาคเกษตรเป็นพื้นฐานหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน หากทุกแห่งได้น้อมนำและเผยแพร่การพัฒนาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีพื้นฐานเป็นความสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเป็นขั้นตอนก่อนพัฒนาไปในระดับที่สูงขึ้น เมื่อภาคเกษตรเข้มแข็งคนส่วนใหญ่พึ่งพาตนเองได้ นั่นก็คือรากฐานสำคัญยิ่งที่จะพัฒนาด้านอื่นๆ ของประเทศต่อไป