posttoday

อินโดนีเซียบ่มเพาะ สตาร์ทอัพบุกอาเซียน

08 ธันวาคม 2561

รู้หรือไม่ว่า “อินโดนีเซีย” มี “ยูนิคอร์น” ในประเทศถึง 4 บริษัท

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง 

รู้หรือไม่ว่า “อินโดนีเซีย” มี “ยูนิคอร์น” ในประเทศถึง 4 บริษัท จากการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างรวดเร็ว ประกอบกับความมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับคำจำกัดความของ ยูนิคอร์น หมายถึง บริษัทสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13.5 ล้านล้านรูเปียห์ ขณะที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หมายถึงอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ บนพื้นฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ โดยมีสตาร์ทอัพเป็นกลุ่มขับเคลื่อนหลัก

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ยูนิคอร์น 4 บริษัท ของอินโดนีเซีย ประกอบด้วย ทราเวลโลก้า (Traveloka), Go-Jek, Bukalapak และ Tokopedia ซึ่งเป็น 4 ใน 7 บริษัทสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้ประกอบการมีอายุน้อยที่สุด

รัฐบาลอินโดนีเซีย ระบุว่า การแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเจาะตลาดต่างประเทศของสตาร์ ทอัพอินโดนีเซีย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ตามคำกล่าวของ “โจโก โจโกวี วิโดโด” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่ระบุว่า บริษัทสตาร์ทอัพ มีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดเพื่อนบ้าน แต่ยังมีอุปสรรค เนื่องจากเพื่อนบ้านกลัว Go-Jek จึงพยายามป้องกันไม่ให้อินโดนีเซียเข้าสู่ตลาดได้อย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยเห็นว่าเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ที่สามารถเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเร่งพัฒนาบุคลากรรองรับการขยายตัวของธุรกิจ สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเต็มกำลัง โดยปัจจุบัน Go-Jek ได้ขยายธุรกิจทั่วภูมิภาคอาเซียนทั้งเวียดนาม ไทย สิงคโปร์ และต้องการขยายตลาดไปยังฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ซึ่งได้เข้ามาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียเป็นอันดับ 1 และในปีที่ผ่านมา NUS Enterprise องค์กรสนับสนุนผู้ประกอบการภายใต้การดูแลของมหาวิ ทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และกลุ่มบริษัทในเครือ Salim Group ของอินโดนีเซีย ร่วมมือสร้างศูนย์นวัตกรรม “Block71Jakata” ในกรุงจาการ์ตา โดยมีบริษัทจากสิงคโปร์และอินโดนีเซียดำเนินกิจการในศูนย์นี้

การก่อตั้งศูนย์นวัตกรรม “Block71 Jakata” จะส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ และการพัฒนานวัตกรรม โดยประเทศสิงคโปร์มองว่าอินโดนีเซียสามารถเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมในการลงทุนครั้งนี้ และแม้ว่าสิงคโปร์จะได้รับประโยชน์ในด้านเจาะตลาดเมืองหลวงของอินโดนีเซีย แต่ในทางกลับกันเป็นโอกาสให้กับอินโดนีเซียในการศึกษาเรียนรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมจากบริษัทมืออาชีพ เพื่อนำมาปรับใช้กับสตาร์ทอัพท้องถิ่น

ขณะที่ในปี 2562 รัฐบาลอินโดนีเซียวางเป้าหมายเพิ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศเป็น 12% จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) และตั้งเป้า 10% ของการส่งออกมาจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งวางแผนก่อให้เกิดการจ้างงาน 13% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียได้พัฒนาเทคโน พาร์ค หรืออุทยานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างน้อย 5 แห่งในภูมิภาค ได้แก่ บันดุง เดนปาซาร์ เซมารังมาคาสซาร์ และบาตัม โดยเทคโน พาร์ค และอุทยานวิทยาศาสตร์แต่ละแห่ง จะกลายเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ ทั้งด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และการบ่มเพาะความรู้

นอกเหนือจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากร การทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้การทำธุรกิจยุคนี้ประสบความสำเร็จ

สำหรับผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำวันในทุกด้าน ทั้งบริการด้านอาหาร บริการด้านการท่องเที่ยว และบริการด้านการเดินทาง เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Go-Jek ประสบความสำเร็จในประเทศได้นั่นเอง