posttoday

ความท้าทาย พลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม

17 พฤศจิกายน 2561

ในงานสัมมนา “บูรณาการด้านพลังงานหมุนเวียน

โดย ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล 

ในงานสัมมนา “บูรณาการด้านพลังงานหมุนเวียน : ความท้าทายและเทคโนโลยี” ณ กรุงฮานอย มีการพูดถึงพลังงานหมุนเวียนว่ากำลังเผชิญกับความท้าทาย และคาดว่าการใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แม้ว่าความสามารถของประเทศเวียดนามในการรวบรวมแหล่งพลังงานหมุนเวียนเข้ากับเครือข่ายพลังงานแห่งชาติยังคงมีจำกัดอยู่

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรวจความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายของเวียดนามในการเพิ่มการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้ให้ข้อมูลจากทางกรมไฟฟ้าและพลังงานทดแทน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าว่า เวียดนามมีการพัฒนาโรงงานผลิตไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อการส่งผ่านเครือข่ายพลังงาน

ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานของเวียดนามในช่วงปี 2543-2563 (PDP VII) ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นประมาณ 10-11% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพี ขณะเดียวกันเวียดนามที่เป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคนี้ จึงทำให้เวียดนามกำลังประสบกับภาวะการขยายตัวทางอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับกระบวนการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม ทำให้คนมักจะย้ายไปอยู่ในเมืองและมีการวางผังเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

อีกทั้งประเทศเวียดนามกำลังส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้แผน PDP VII กำลังการผลิตพลังงานโดยรวมซึ่งได้จากพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องมีจำนวน 850 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 และ 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ขณะที่ภายในปี 2573 กำลังการผลิตพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดไว้จะต้องมีจำนวน 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ และกำลังการผลิตพลังงานจากพลังงานลมต้องมีจำนวน 6,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานประจำปีของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN)ระบุว่า ในปี 2560 เชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานภายในประเทศ แผน PDP VII ระบุถึงขั้นตอนที่ประเทศเวียดนามจะใช้ในการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งภายในปี 2573 จะต้องมีพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วน 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ (12 กิกะวัตต์ (GW))

นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังระบุถึงความจำเป็นในการลงทุนสำหรับระบบการจำหน่ายพลังงาน โดยมีการทำงานที่ยืดหยุ่นและระบบการทำงานอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการขนส่งพลังงานไฟฟ้าไปจำหน่าย รวมถึงการพัฒนาสถานีผลิตพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้แก่สถานีย่อย ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญถึงความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทและภูเขา เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าสามารถใช้ได้ในทุกครัวเรือนภายในปี 2563

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของระบบการจำหน่ายไฟฟ้าไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะใช้กับพลังงานประเภทนี้ โดยจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ปีในการสร้างโครงการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ต้องการเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น เป็นผลให้การพัฒนาการผลิตไฟฟ้าไม่สามารถรับมือกับการขยายโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้ เหตุนี้จึงทำให้เวียดนามต้องเจอและต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายในระบบไฟฟ้าของประเทศ เพราะสิ่งสำคัญคือจะต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อทำให้การผลิตพลังงานมีความยืดหยุ่น อีกทั้งกระบวนการโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนั้น จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการผลิตพลังงานในอนาคตนั่นเอง