posttoday

‘ดีอี’กระตุ้นแคท บุกตลาดเพื่อนบ้าน

10 พฤศจิกายน 2561

เมื่อเร็วๆ นี้ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดฯ

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

เมื่อเร็วๆ นี้ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดฯ ทั้งได้ให้นโยบายแก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท ในการทำตลาดเชิงรุกบุกซีแอลเอ็มวีที ที่มีตลาดขนาดใหญ่ถึง 250 ล้านคน

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของหน่วยงานภายใต้สังกัด และมีโอกาสรับฟังความคืบหน้าโครงการเคเบิลใต้น้ำของบริษัท กสท โทรคมนาคม (แคท) ซึ่งรัฐบาลได้ลงทุนให้ 5,000 ล้านบาท ในการเพิ่มความจุของเคเบิลใต้น้ำ ทั้งภายในประเทศ และส่วนที่ติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา รวมทั้งการวางสายใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศจีน

ทั้งนี้ รมว.ดีอี มองว่าตลาดซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน ถือเป็นตลาดใหญ่ ดังนั้นจึงมอบหมายให้แคท จัดทำแผนการตลาดเชิงรุก เพิ่มกลุ่มผู้ใช้บริการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งนักธุรกิจต่างชาติ อาทิ จีนได้เข้าไปลงทุนด้านดิจิทัลในกัมพูชาแล้ว

“จุดประสงค์เงิน 5,000 ล้านบาทที่รัฐบาลให้กับโครงการนี้ เพื่อเป็นตัวชักนำให้เพิ่มเศรษฐกิจ กสท โทรคมนาคม จะเป็นองค์กรด้านวิศวกรรมอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป ต้องเป็นด้านการค้า (Commercial) ด้วย” พิเชฐ กล่าว

‘ดีอี’กระตุ้นแคท บุกตลาดเพื่อนบ้าน

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือญี่ปุ่น ไทยควรชูจุดเด่นเรื่อง ซีแอลเอ็มวีที เป็นตลาดเดียวกัน มีความคุ้มค่าในการลงทุนทางธุรกิจมากกว่า ตลอดจนปี 2562 ไทยดำรงตำแหน่งสำคัญ คือการเป็นประธานอาเซียน สามารถดำเนินนโยบายด้านดิจิทัลของอาเซียนได้อย่างเต็มที่

ขณะที่ตลาดบริการด้านสื่อสารและโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนเปิดเสรีมากขึ้น และปัจจุบันไม่ได้มีข้อจำกัดกีดกั้นเอกชน เป็นโอกาสให้กับแคทในการทำตลาดเชิงรุก ก่อนที่คู่แข่งทางธุรกิจจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหากตัดสินใจเข้าไปทำตลาดช้ากว่าประเทศอื่น ตลาดจะเข้าสู่ภาวะเติบโตเต็มที่ หมดโอกาสในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการควบรวมกับบริษัท ทีโอที เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ยิ่งต้องคำนึงถึงแผนพัฒนาธุรกิจ และการขยายตลาด เพราะตลาดต่างประเทศจะเป็นหน้าที่ที่ชัดเจนของแคท

นอกจากนี้ ข้อจำกัดของแคท ในปัจจุบันคือ การไม่มีจุดเชื่อมโยงระหว่างการให้บริการ กับสิ่งที่เศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อน จะเห็นได้ว่าแคท ขาดการเชื่อมต่อกับภาคส่วนเศรษฐกิจ การเจรจาด้านการค้าการลงทุน ยังมองไม่เห็นโครงสร้างพื้นฐานที่แคทมีอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และแบนด์วิธที่มีพร้อมให้บริการ

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า กสท โทรคมนาคม มีความได้เปรียบในการเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนในตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการระหว่างประเทศ มีเครือข่าย และรู้จักผู้ให้บริการโทรคมนาคมของประเทศเพื่อนบ้าน จึงควรต้องทำ เพราะตลาดเพื่อนบ้านน่าจะเป็นตลาดของ กสทฟ