posttoday

โอกาสฮาลาลไทย ในกลุ่มมุสลิมอินเดีย

15 กันยายน 2561

ปัจจุบันประชากรมุสลิมทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 2,140 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 30% ของประชากรโลก

โดย ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล 

ปัจจุบันประชากรมุสลิมทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 2,140 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 30% ของประชากรโลก และยังมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ประชากรมุสลิมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านคน ซึ่งมากเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก จึงทำให้สินค้าฮาลาลมีแนวโน้มเติบโตรวมทั้งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดสินค้าฮาลาล

ทั้งนี้ ตลาดมุสลิมที่น่าสนใจและผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพพอที่จะขยายตลาดออกไปได้นั้น นอกจากจะเป็นประเทศในกลุ่มมุสลิมอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียแล้ว ยังมีตลาดนอกกลุ่มมุสลิมอย่าง “อินเดีย” อีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย รายงานข้อมูลว่า อินเดียถือว่าเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ รวมทั้งศาสนา โดยประชากรอินเดียนับถือศาสนาอิสลามเป็นอันดับ 2 มากถึง 172 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 1,324 ล้านคนโดยประชากรมุสลิมอินเดียส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐซัมมู และแคชเมียร์ รัฐอัสสัมรัฐเบงกอลตะวันตก รัฐเกรละ และรัฐอุตตรประเทศ

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าฮาลาลสู่อินเดียนั้น จำเป็นต้องทราบถึงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปได้ สะดวกและเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค โดยกฎระเบียบสำคัญคือ กฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าสู่อินเดีย อัตราภาษีนำเข้า ที่สำคัญสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวมุสลิมจำเป็นต้องได้รับใบรับรองฮาลาลด้วย

สำหรับการขอใบรับรองฮาลาลในประเทศอินเดียสามารถขอได้ที่หน่วยงานรับรองฮาลาลของอินเดีย เช่น Halal India Private Limited, Halal Certification Services India Private Limited และ Jamiat Ulama-i-HindHalal Trust เป็นต้น โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5 หมื่นรูปี แต่ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมมีความแตกต่างกันไปตามหน่วยงานที่ทำการรับรอง โดยประเภทการขอใบรับรองฮาลาลสามารถแบ่งตามประเภทกิจการดังนี้ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร อุตสาหกรรมโรงฆ่าสัตว์ โกดังและที่เก็บของ และการอนุญาตผลิตภัณฑ์

“ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของโลก และตลาดมุสลิมถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล โดยเน้นเจาะกลุ่มตลาดมุสลิมทั่วโลก” สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน ระบุถึงทิศทางนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าฮาลาลของไทย

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีสินค้าและบริการฮาลาลใหม่ๆ ที่ได้คุณภาพออกสู่ตลาดและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างเครื่องหมายฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และส่งเสริมขยายตลาดอาหาร ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา กลุ่มเอเชียตะวันตก กลุ่มเอเชียใต้ กลุ่มอาเซียนและกลุ่มยุโรปตะวันออก รวมทั้งหาตลาดใหม่ เช่น อเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป จีน และอินเดียเพิ่ม

ทั้งนี้ ตลาดมุสลิมในอินเดียจึงเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าอาหารฮาลาลไทย รวมทั้งสินค้าอุปโภคอื่นๆ สำหรับชาวมุสลิมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าคุณภาพส่งออก จะมองหาพันธมิตรและจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าของอินเดียในการทำตลาด เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังตลาดอินเดีย