posttoday

ส่องเชื่อมั่น นักท่องเที่ยวจีน

07 กันยายน 2561

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หลังเหตุการณ์เรือล่ม ใน จ.ภูเก็ต ช่วงที่เหลือของปี 2561 ตัวเลขนักท่องเที่ยว จีนจะปรับตัวดีขึ้น

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

จากรายงานผลสำรวจพฤติกรรม นักท่องเที่ยวจีน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่จัดทำขึ้นหลังเหตุการณ์เรือล่ม ใน จ.ภูเก็ต เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผล กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือน ก.ค. 2561 ลดลงเล็กน้อย แต่โดยภาพรวมยังไม่กระทบความเชื่อมั่นมากนัก ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าช่วงที่เหลือของปี 2561 ตัวเลขนักท่องเที่ยว จีนจะปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ รายงานผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน เก็บรวบรวมข้อมูลจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 400 ราย โดยผลการสำรวจ พบว่า นักท่องเที่ยวจีนมองประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับที่ 1 ในทวีปเอเชีย คิดเป็นสัดส่วน 27% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น 18.8% มัลดีฟส์ 14.5% ฮ่องกง 14.3% และสิงคโปร์ 9.6% โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยครั้งแรกรู้จักประเทศไทยผ่านบริษัทนำเที่ยวและคำบอกเล่าจากคนใกล้ชิด

ขณะที่ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2561 นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งสิ้น 6.86 ล้านคน ซึ่งในเดือน ก.ค. 2561 มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 929,771 คน ลดลง 0.87% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์เรือล่มใน จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าช่วงที่เหลือของปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยยังมองไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลอดปี 2561 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเที่ยวไทยทั้งสิ้น 10.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.2% จากปี 2560 และคาดการณ์รายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน จะอยู่ที่ 6.02 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 14.8% จากปี 2560 ขณะที่การแข่งขันในตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในด้านการอำนวยความสะดวกในการชำระสินค้าหรือบริการ ด้วยระบบการชำระเงินของจีน การทำตลาดประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์หรือช่องทางดิจิทัลที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมหาข้อมูล เช่น Mafengwo และ TripAdvisor

นอกจากนี้ รายงานผลสำรวจฯ ยังระบุว่า ค่าใช้จ่ายของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศไทย 3 อันดับแรกมาจากค่าใช้จ่ายจากการเลือกซื้อสินค้า ตามด้วยค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และ ค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพ เช่น นวด สปา โดยกลุ่มสินค้าที่กลุ่มนักท่องเที่ยว เลือกซื้อระหว่างการท่องเที่ยวมากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว คิดเป็น 22.5% ตามด้วย กลุ่มอาหารและผลไม้แปรรูป 22.7% กลุ่มยารักษาโรคและสมุนไพรไทย คิดเป็น 22.2% กลุ่มสินค้าเครื่องแต่งกาย  12.8% และกลุ่มสินค้าของที่ระลึก  7.1%

สำหรับในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น จะพบว่าค่าใช้จ่ายด้านกิจกรรมการ ท่องเที่ยวเป็นค่าใช้จ่ายอันดับที่ 2 รองจากการเลือกซื้อสินค้า

ด้านพฤติกรรมการชำระเงิน พบว่า นักท่องเที่ยวจีนในไทยส่วนใหญ่ยังใช้เงินสดในการชำระค่าสินค้าหรือบริการมากที่สุด แต่ทั้งนี้การชำระสินค้าหรือบริการผ่านเครื่องมือทางการเงินของจีนอย่างอาลีเพย์(Alipay) และวีแชตเพย์ (WeChat Pay) มีสัดส่วนใกล้เคียงกับการชำระเงินสด โดยผลสำรวจพบว่า 84.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามชำระสินค้าและบริการด้วยเงินสดและ 75.2% ของผู้ตอบแบบ สอบถาม ชำระเงินด้วย อาลีเพย์และวีแชตเพย์ อีกทั้งพบว่าผลจากการที่ร้านค้าในไทยให้บริการชำระด้วยคิวอาร์โค้ด 81.8% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวก และได้รับส่วนลดจากร้านค้า

ผลการสำรวจโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เบื้องต้นยังพบว่าความเชื่อมั่นของ นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยยังคงมีอยู่ แต่ทั้งนี้ภาครัฐ และภาคบริการด้านการ ท่องเที่ยวในประเทศไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องมุ่งเพิ่มความเชื่อมั่นแก่กลุ่มนักท่องเที่ยว ตลอดจนให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากภาคส่วนการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และชาวจีนยังเป็นนักท่องเที่ยวชาติแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด