posttoday

สคช.ผนึก สอศ. ยกมาตรฐานวิชาชีพ

25 สิงหาคม 2561

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช.จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช.จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อการพัฒนาสมรรถนะสู่การทำงานในศตวรรษที่ 21” เพื่อเร่งยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเทียบชั้นสากล รองรับการเติบโตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ นอกเหนือจากการพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในประเทศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันในระดับเวทีสากล โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี สคช.ได้มุ่งเน้นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีแผนการพัฒนาวิชาชีพจำนวน 3.1 แสนคน รวมถึงได้จัดทำมาตรฐานอาชีพครอบคลุมไปใน10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ทั้ง 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ First S-curve และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต New S-curve ซึ่งที่ผ่านมา สคช.ได้มีการจัดทำคุณวุฒิวิชาชีพไปแล้ว 49 สาขาวิชาชีพ 493 อาชีพ จากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้งหมด 72 สาขาวิชาชีพ 700 อาชีพ ซึ่งคาดว่าในปี 2564 จะดำเนินการแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ทาง สคช.ได้ร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ จัดอบรมหลักสูตรความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานข้อกำหนดทั่วไปสำหรับหน่วยรับรองบุคลากรตามมาตรฐาน ISO/IEC17024 แนวทางการตรวจประเมินตามมาตรฐาน ISO 19011 และมาตรฐานอาชีพ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำงานในต่างประเทศได้

ด้าน ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. กล่าวว่า การก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ เป็นเรื่องของผลิตคนให้สอดคล้องกับความต้องการของคุณสมบัติวิชาชีพของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันยังมีช่องว่างระหว่างการศึกษากับความต้องการของผู้ประกอบการ ที่กำลังคนที่จบการศึกษามีสมรรถนะไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ดังนั้น สอศ.มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“เป้าหมายของการพัฒนาอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับบุคลากรในระดับอาชีวศึกษาที่มีสมรรถนะความรู้ในด้านทักษะและความสามารถในการประยุกต์ใช้ และความรับผิดชอบเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล ตลอดจนผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรอาชีวศึกษา สมรรถนะในแต่ละระดับมีสมรรถนะสอดคล้องตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งระดับชาติและสากล” ประชาคม กล่าว

ทั้งนี้ สอศ.จะเร่งต่อยอดสร้างความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดมาตรฐานอาชีพ วิเคราะห์ความต้องการกำลังคน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการจัดการการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับคุณวุฒิวิชาชีพของภาคผู้ประกอบการ มีการเรียนรู้ร่วมกัน และพัฒนาต่อยอดหลักสูตรที่ตอบสนอง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลตามที่ สคช.ได้ดำเนินการจัดทำอยู่ในปัจจุบัน และนำไปใช้ในการขับเคลื่อนทั้งครูและนักเรียน นักศึกษาของอาชีวศึกษาต่อไปในอนาคต