posttoday

การประเมินตลาดเมียนมา

18 สิงหาคม 2561

เรามักจะประเมินตลาดเมียนมาต่ำ และคิดว่าเขาล้าหลังเรามากๆ แต้ในความเป็นจริงแล้ว ผิดครับ

โดย..กริช อึ้งวิทูรสถิตย์

ครั้งที่ผ่านมาเล่าค้างๆ ไว้เรื่องข้อควรระวังของเอสเอ็มอี เรามักจะประเมินตลาดเมียนมาต่ำ และคิดว่าเขาล้าหลังเรามากๆ วันนี้ขอเล่าต่อนะครับ เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างสองประเทศ และจะได้ให้พวกเราชาวเอสเอ็มอีได้ประเมินเขาใหม่ เข้าไปลุยตลาดแล้วจึงจะประสบความสำเร็จครับ

ผมไม่เถียงที่บอกว่าเมียนมาล้าหลังกว่าไทยหลายปี เพราะเกิดจากการปิดประเทศมานาน แต่เขาเป็นคนฉลาดนะครับ เราต้องเข้าใจเขา หรือรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งครับ เอสเอ็มอีบางท่านที่ได้คุยกับผม มักจะบอกว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะ ทรัพยากรก็เยอะ แต่สินค้าเขาขาดแคลนทุกอย่าง เอาอะไรไปขายก็ขายได้ นี่เป็นความคิดที่ผิดๆ ครับ ท่านเข้าใจถูกเป็นบางส่วนแค่นั้นเอง การที่จะประเมินฝ่ายตรงข้าม ขอให้ประเมินเขาสูงเข้าไว้ พอเราทำอะไรเข้าจริงๆ จะได้ไม่เจ็บตัวนะครับ

ที่นี่เขามีนิคมอุตสาหกรรม (อาจจะไม่ได้สวยหรูเหมือนของไทย) เฉพาะที่ย่างกุ้งก็มีร่วม 20 แห่งครับ แม้จะไม่ได้เปิดดำเนินการทุกพื้นที่ในนิคมฯ แต่ก็มีบางส่วนที่เขาเปิดไลน์การผลิตอยู่แล้ว ดังนั้นสินค้าที่ผลิตออกมาในระยะเวลานี้ก็มีหลากหลายเช่นกัน แน่นอนว่าค่าแรงเขาถูกกว่าเรามาก ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำวันละ 100 บาทต้นๆ เมื่อเทียบกับเราวันละ 300 บาท เราไม่ได้เปรียบเขาเลยนะครับ ค่าที่ดินหรือค่าเช่าที่นี่แพงกว่าไทยเรา แต่ถ้าเขามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ก่อนปี 2000 ค่าที่ดินจะถูกมากๆ ส่วนวัตถุดิบถ้าเป็นของพื้นบ้านที่เขามีอยู่ แน่นอนว่าถูกกว่าบ้านเราแน่นอนครับ แต่ถ้าต้องนำเข้า อาจจะแพงกว่า หรืออาจจะถูกกว่าก็ได้ เพราะเขาสามารถเสาะแสวงหาจากประเทศต่างๆ ได้ อีกอย่างภาษีนำเข้าวัตถุดิบจะถูกกว่าสินค้าสำเร็จรูปครับ

ผมมักจะได้ยินได้ฟังมาจากปากของผู้ประกอบการไทยที่หวังจะเอาสินค้าไปขายให้เขา ด้วยวิธีการคิดง่ายๆ เช่น ไปจ้างโรงงานในประเทศจีนผลิตสินค้าให้ แล้วเอามาย้อมแมวขาย ผมต้องบอกเลยว่าท่านประเมินเขาต่ำไปแล้วครับ ในอดีต เมื่อเขาปิดประเทศอยู่ เขาอาศัยเราจริงครับ ขณะนั้นเขาไม่มีทางไป อยากได้รถยนต์เก่า ก็มาซื้อที่ไทย จะหาอะไหล่ก็มาหาเอาที่คลองถมกรุงเทพฯ อยากได้ผ้าราคาถูก ก็มาซื้อที่พาหุรัดบ้าง ตลาดวัดสนบ้าง อยากได้เครื่องยนต์เก่า ก็มาดูกันที่เชียงกง หรือแม้แต่จะหาซื้อยารักษาโรค ก็จำเป็นต้องอาศัยพ่อค้าชายแดนไทยช่วยหาให้ การค้าในยุคนั้นได้เปลี่ยนผ่านไปเรียบร้อยแล้วครับ กาลเวลาเปลี่ยนไปครับ แค่เขาเป็นประเทศได้ไม่นาน ทุกอย่างเขาหาซื้อเองหมด เราต้องไม่ลืมว่าคนเมียนมาเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่คือคนยูนนาน เพราะประเทศเขามีพื้นที่ชายแดนติดมณฑลยูนนานของจีนยาว 2,000 กว่ากิโลเมตร ดังนั้น รัฐฉาน มัณฑะเลย์เกือบจะร้อยละ 70 ของชาวจีน จึงเป็นชาวยูนนาน ท่านลองนึกภาพตามนะครับ เหมือนเรื่องที่เกิดในเมืองไทยชาวแต้จิ๋วเป็นชาวจีนส่วนใหญ่ หากเราต้องการทำธุรกิจกับคนจีนในไทย ท่านต้องพยายามพูดภาษาแต้จิ๋วให้ได้ จึงจะค้าขายได้คล่อง มิเช่นนั้นเราจะกลายเป็นฮวงนั้ง (คนป่า) ที่ชาวแต้จิ๋วชอบปรามาสครับ เช่นเดียวกัน หากท่านจะทำธุรกิจทางแถบภาคเหนือของเมียนมา ท่านควรพูดภาษายูนนานหรือภาษาจีนฮ่อได้ ท่านจะได้รับการยอมรับจากเขาทันที อย่างไม่ได้ก็ควรพูดภาษาจีนกลางให้ได้ครับ เพราะจีนกลางก็คล้ายๆ ภาษาจีนยูนนานหรือจีนฮ่อครับ

หันมามองการค้าหลังเปิดประเทศเมียนมา ชาวเมียนมาเชื้อสายจีน เขาสามารถเข้าไปหาซื้อของจากเมืองจีนมาขายได้ง่ายกว่าเราคนไทยเสียอีก เพราะเขาสามารถสื่อสารกันกับคนจีนได้ในภาษาเดียวกัน ต่างจากคนไทย ถ้าจะซื้อหาของจากเมืองจีน น้อยคนนักที่จะสื่อสารภาษาจีนกลางได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษาได้ นอกเสียจากเราจะไปที่กวางเจา เสิ่นเจิ้น ที่ใช้ภาษาจีนแต้จิ๋วได้ เพราะชาวจีนแถบซัวเถา เก๊กเอี๊ย หรือที่แต้เอี้ย จะนิยมมาค้าขายกันที่นี่ ดังนั้นเราจึงแพ้คนเมียนมาเชื้อสายจีนแล้วละครับ แล้วเรายังคิดจะเอาของจีนมาขายให้เขาอีกเหรอครับ พอเขารู้แหล่งที่มาของสินค้า เขาก็วิ่งไปหาเองโดยไม่ต้องมาผ่านเราแล้วละครับ