posttoday

ห่วงไทยหลุดฮับขนส่ง

17 สิงหาคม 2561

ผลสำรวจต้นทุนขนส่งพุ่งอันดับ 4 อาเซียน แนะเร่งพัฒนาไร้รอยต่อ

โพสต์ทูเดย์ - ไทยติดโผต้นทุนขนส่งสูงในอาเซียน ฟิลิปปินส์-มาเลย์ครองแชมป์ หวั่นเวียดนามเบียดไทยขึ้นแท่นฮับขนส่งภูมิภาค

นายรุธิร์ พนมยงค์ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและการลงทุนเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI) ของแต่ละประเทศ ดังนั้นการขนส่งทางบกยังคงเป็นตัวเลือกอันดับแรกและปริมาณยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลมุ่งการพัฒนารถไฟทางคู่ สถานีเปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าตามแนวชายแดนและการพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่เป็นจุดแข็งที่ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ทว่าประเทศเวียดนามมีการพัฒนารวดเร็วมากโดยอาศัยปัจจัยสนับสนุนจากเส้นทางเดินเรือไปยังยุโรปที่ใกล้กว่าแหลมฉบัง ภูมิศาสตร์ติดประเทศจีนและการย้ายนิคมอุตสาหกรรมการผลิตไปตั้งในเวียดนาม ทำให้ในอนาคตมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นฮับขนส่งของ GMS ได้

นอกจากนี้ จากการรวบรวมสถิติพบว่าต้นทุนการขนส่งสินค้าทางบกของไทยสูงเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน แบ่งเป็น 1.ฟิลิปปินส์ต้นทุนขนส่ง 11,900 บาท/TEU 2.มาเลเซียต้นทุน 9,100 บาท/TEU 3.บรูไนต้นทุน 7,875 บาท/TEU 4.ไทยต้นทุน 7,350 บาท/TEU 5.เวียดนามต้นทุน 7,000 บาท/TEU ขณะที่อินโดนีเซียมีต้นทุนขนส่งสินค้าทางบกถูกที่สุด 5,600 บาท/TEU

สำหรับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนระยะเร่งด่วน (2016-2025) ซึ่งคาดว่าจะใช้เม็ดเงินจำนวนมากหลายแสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วย 1.พัฒนาเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิง เชื่อมต่อจีนตอนใต้-เวียดนาม-กัมพูชา-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ 2.พัฒนาท่าเรือบกในกลุ่มชาติอาเซียน (Dry Port) เพื่อลดขั้นตอนและต้นทุนการขนส่งทางบก-ทางน้ำ 3.พัฒนาถนนเดิมและก่อสร้างโครงข่ายถนนใหม่เส้นทางอาเซียน (Asean Highway) 4.พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ตามด่านสินค้าชายแดน เช่น Intelligent Transport System (ITS)

“การเพิ่มศักยภาพการขนส่ง GMS และภูมิภาคอาเซียนในอนาคตนั้น จำเป็นต้องใช้โมเดลการขนส่งไร้รอยต่อ (Seamless Logistic) เริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลร่วมกันแบบบิ๊กดาต้าเพื่อกำกับการขนส่งสินค้าภาพรวม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เข้ามายกระดับบริการขนส่งและความปลอดภัยของสินค้า การบูรณาการแผนแม่บทขนส่งโลจิสติกส์ร่วมกันในระดับภูมิภาค เป็นต้น” นายรุธิร์ กล่าว