posttoday

เอสเธอร์ วัง สตาร์ทอัพ สิงคโปร์

13 สิงหาคม 2561

ต้องยอมรับว่าสิงคโปร์ เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่เหมาะสมต่อการเกิดสตาร์ทอัพ ด้วยวัฒนธรรม

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง
 
ต้องยอมรับว่าสิงคโปร์ เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่เหมาะสมต่อการเกิดสตาร์ทอัพ ด้วยวัฒนธรรม และกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยเป็นเหตุผลที่กระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีนวัตกรรมจำนวนมาก
 
เอสเธอร์ วัง ผู้ก่อตั้ง Joytingle หนึ่งในสตาร์ทอัพรุ่นใหม่สิงคโปร์ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมของเล่นเพื่อการศึกษาชื่อว่า “Rabbit Ray” ของเล่นที่ช่วยให้เด็กเข้าถึงวิธีการต่างๆ ในการรักษา ทั้งการฉีดยา การฉีดวัคซีน และการหยดยาเข้าทางหลอดเลือด รวมถึงยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเริ่มต้นพูดคุยเรื่อง
อาการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายและความตาย ซึ่งมีการนำไปใช้จริงในโรงพยาบาลแล้ว
 
ทั้งนี้ เอสเธอร์ วัง ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการเกิดสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ผ่านเว็บไซต์ asia.nikkei.com ว่า รัฐบาลมีส่วนสนับสนุนอย่างมากในการสร้างบรรยากาศเอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านเงินทุน ผ่าน MRA (the Market ReadinessAssistance) Grant และการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสิงคโปร์มีความเหมาะสมที่สุดในภูมิภาคในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดึงดูดความสามารถที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ
 
โดยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยไม่ใช่แค่มาจากกระบวนการคิด (Mindset) ของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมาจากวิถีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นในสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์เริ่มเข้าใจและยอมรับความคิด ความสมดุลในการทำงาน ช่วยให้ดึงดูดครอบครัว และสตาร์ทอัพเข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์ โดยการเป็นผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมนอกเหนือจากเงินทุน กระบวนการความคิดของผู้คนในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้ประกอบการเชื่อมั่น ผลักดันให้การสร้างสรรค์เป็นจริงซึ่งล้วนต้องใช้เวลาในการพัฒนาแพลตฟอร์ม
 
สำหรับคุณสมบัติของสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ เอสเธอร์ วัง มองว่า เป็นผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ และเป็นผู้ที่มีความ “กล้าหาญ”เนื่องจากต้องเผชิญความไม่แน่นอนมากมาย และสิ่งท้าทายทางธุรกิจตลอดเวลา ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจ เข้าใจดีว่าผู้ประกอบการต้องรับความเครียดในจิตใจมหาศาล แต่ทั้งนี้ต้องไม่เพ่งมองแค่จุดนั้น และต้องบอกกับตนเองว่าทำต่อไป
 
นอกจากนี้ ในฐานะของผู้ก่อตั้งควรมองไปข้างหน้าศึกษาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ขณะที่สิ่งสำคัญที่สามารถทำลายธุรกิจลงคือการไม่แบ่งปันความคิดร่วมกัน (Silo) หรือยึดติดกับอัตตา ดังนั้นสิ่งที่สร้างสรรค์ เกิดขึ้นได้จากการแลกเปลี่ยน พูดคุยระหว่างกันด้วยบทสนทนาคุณภาพ
 
สำหรับการวางแผน Joytingle ในอนาคต เอสเธอร์ วัง เผยว่า ต้องการให้Rabbit Ray เป็นที่รู้จักในการดูแลสุขภาพของเด็ก และเป็นตัวประสานของครอบครัวในช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุด เมื่อพ่อแม่ต้องนำเด็กๆ ไปโรงพยาบาล เพื่อช่วยให้เด็กก้าวข้ามความกลัว การเจ็บปวด และเต็มใจรับการดูแลรักษาของโรงพยาบาลด้วยความเข้าใจ
 
ทั้งนี้ Rabbit Ray ได้จำหน่ายให้กับโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งใน 5 ประเทศ ซึ่งการทำงานกับโรงพยาบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพช่วยให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ได้วางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์สำหรับลูกค้าทั่วไปด้วย
 
ขณะที่จุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากแรงบันดาลใจที่เธอเคยทำงานเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล และต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่เด็กหวาดกลัวและกังวลกับการรักษาที่มีการใช้เข็ม ซึ่งเธอจะไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพียงเท่านี้ โดยมีเป้าหมายคือสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการสุขภาพ ผ่านการตั้งคำถามของตนเองว่าภาคส่วนต่อไปที่สามารถจะทำได้ คืออะไร เพื่อยกระดับบริการด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนอีกหลายชีวิต